สธ.เผย กทม.มีแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 ลดลง เตรียมปรับเพิ่มมาตรการป้องกันควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุข เผย แนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 กทม.ลดลง แต่ยังพบการติดเชื้อในกลุ่มเพื่อน, เพื่อนสนิท เพิ่มการเฝ้าระวังในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคปอด ค้นหาเชิงรุกในโรงงาน /ในชุมชน เน้นอาชีพบริการและเสี่ยงสัมผัส เช่น สำนักงานเขต บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ รถรับจ้าง วินมอเตอร์ไซด์

วันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย

สำหรับ สถานการณ์ในวันนี้ นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 930 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 916 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 889 ราย และจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 27 ราย อีก 14 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมการระบาดระลอกใหม่ (วันที่ 15 ธันวาคม 2563–30 มกราคม 2564) 13,716 ราย หายป่วยเพิ่ม 109 ราย สะสม 7,565 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม 6,134 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นชายชาวเมียนมา อายุ 31 ปี ที่ จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว คือตับแข็งและติดสุราเรื้อรัง รวมผู้เสียชีวิตสะสม 17 ราย

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ กทม. ยังมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ต่อเนื่อง แต่แนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปลายเดือนธันวาคม – ต้นเดือนมกราคม โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้น จากกลุ่มก้อนการระบาดขนาดใหญ่ 2 กรณี คือกรณีงานเลี้ยงวันเกิด และพนักงานในร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า อีกทั้งยังพบการติดเชื้อในกลุ่มเพื่อน เพื่อนสนิทเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าประชาชนหย่อนมาตรการป้องกันตนเอง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิด จะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยเสียงดัง รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงแต่ไม่กักตัวเองส่งผลให้คนใกล้ชิดติดเชื้อด้วย

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับ กทม. ปรับเพิ่มมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ อาทิ เพิ่มความเร็วในการตรวจจับการระบาด เน้นย้ำทุกหน่วยบริการเพิ่มการเฝ้าระวังในผู้ป่วยผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคปอด ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกโดยสุ่มตรวจหาการติดเชื้อของแรงงาน ในโรงงานทุกขนาด รวมถึงค้นหาการติดเชื้อที่อาจซ่อนอยู่ในชุมชน มุ่งเป้าไปที่คนไทยที่มีอาชีพบริการและเสี่ยงต่อการสัมผัสกับแรงงานต่างด้าว เช่น สำนักงานเขต บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ขสมก. รถโดยสารรับจ้าง วินมอเตอร์ไซด์ เป็นต้น

“การระบาดเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นบทเรียนสำคัญต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ไม่ไปในสถานที่เสี่ยง ร่วมกิจกรรมเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยง อาจติดเชื้อและไปแพร่กระจายให้คนใกล้ชิดได้ และหากมีปัจจัยเสี่ยงต้องรีบตรวจพร้อมป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด การสวมใส่หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เป็นวัคซีนชีวิต ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ระลึกเสมอว่า ต้องไม่เอาตัวไปเสี่ยงต่อการติดเชื้อเด็ดขาด อย่ารอให้การลุกลามจนยากจะควบคุม เพราะถึงตอนนั้นอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้”นพ.วิชาญ กล่าว

*********************************** 30 มกราคม 2564