การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ๑/๒๕๖๔

วันศุกร์ที่๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(นายอนุชา นาคาศัย) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔
ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลโดยมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ รายงานผลการดำเนินคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ รายงานผลการดำเนินงานของ สคบ. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ไตรมาสที่ ๑ นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป (ธุรกิจเนอสซิ่งโฮม อู่ซ่อมรถยนต์) ดังนี้

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์
๑. กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาเช่าอาคาร โดยเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อกฎหมาย บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ด้านสินค้าและบริการ
๒. กรณีซื้อรายการนำเที่ยว แต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) จึงขอยกเลิกรายการนำเที่ยว และมีความประสงค์ขอคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด ซึ่งบริษัทไม่คืนเงินให้ผู้ร้อง บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓. กรณีว่าจ้างเนอสซิ่งโฮม แม่บ้านไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ บริษัทไม่สามารถจัดหาพนักงานมาทดแทนได้ บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔. กรณีทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์แล้วพบปัญหามาตรวัดระยะไม่ตรงตามจริง บังคับชดใช้ค่าเสียหายในส่วนต่างของราคาพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๕. กรณีบริษัทไม่คืนเงินประกันความเสียหายจากการเช่าที่พักและค่าประกันกุญแจ บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

รมต.นร. อนุชาฯ เน้นย้ำให้ สคบ.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อย. กสทช. ปฎิบัติการเกี่ยวกับความชัดเจนของโทษด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ทั้งนี้อย.ได้มีการวิจัยเรื่องถังเช่าว่ามีผลกระทบต่อร่างกาย กรณีนี้ สคบ.จะบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดย สคบ.จะเป็นตัวแทนเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคส่วนเรื่องการโฆษณาต้องมีการขออนุญาตที่ อย. ส่วนทาง กสทช.จะมีการควบคุมด้านการออกอากาศเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานภาครัฐ