เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก.พ.อ.กระทรวงการอุดมฯ มีมติเห็นชอบการขอตำแหน่งวิชาการระดับ “ศ. , รศ. , ผศ.” สายวิทย์–สังคม

29 มกราคม 2564 : ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาร่างเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการระดับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ โดย ก.พ.อ. ได้ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการ ซึ่งได้นำจุดเด่นของเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการ ปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2563 มาจัดทำร่างเกณฑ์ฉบับใหม่เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ขอตำแหน่งวิชาการสามารถใช้ผลงานวิชาการที่มีความเหมาะสมและยืดหยุ่นมากขึ้น โดย ก.พ.อ. ได้เห็นชอบตามนโยบายของ รมว.อว. ในกรณีการใช้ผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติเพื่อขอตำแหน่งวิชาการทั้งในสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสายสังคมศาสตร์นั้น ผลงานวิชาการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI ไม่ว่าระดับใด แต่เปิดกว้างให้เป็นผลงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการใดๆ ก็ได้ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอบรับในวงวิชาการของสาขาวิชานั้นๆ หรือ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างจากเกณฑ์การขอตำแหน่งวิชาการ ปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2563 ที่ได้ระบุว่า ผลงานวิจัยต้องตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลวารสาร TCI ในระดับ 1 หรือ 2 เท่านั้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ขอตำแหน่งวิชาการ สร้างสรรผลงานวิชาการในหลายๆรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่ในผลงานวิชาการในรูปแบบเดิมๆ เช่น ตำราหรืองานวิจัย ก.พ.อ. ที่มี รมว.อว. เป็นประธาน ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่ไม่อาศัยงานตำราหรืองานวิจัย โดยมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่พิจารณาเกณฑ์ในการกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ที่ไม่ใช้ตำราหรืองานวิจัย แต่ใช้ผลงานที่ทำให้แก่พื้นที่และชุมชน หรือใช้ผลงานในการนำหลักศาสนาและปรัชญามาชี้นำวิชาการหรือชีวิตในทางโลก หรือใช้ผลงานศิลปะหรืองานสร้างสรรค์มาแทน

—————-