กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS จัดการศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี)

กรุงเทพ : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS  ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านสื่อและภาควิชาการ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาและจัดทำหลักสูตรการอบรมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย 3-6 ปีที่มีความเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กและสถานการณ์ และเพื่อทดลองผลิตสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เหมาะกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย  ตลอดจนการนำร่องการใช้หลักสูตรการอบรมเบื้องต้นสำหรับพัฒนาศักยภาพคนในการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยผู้รับผิดชอบการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้เปิดเผยว่า “จากการศึกษาวิจัยทำให้ได้แนวทางหลักสูตรการอบรมเบื้องต้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการผลิตสื่อสำหรับเด็กปฐมวัย 3-6 โดยมีการนำร่องจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจการผลิตสื่อต้นแบบสำหรับเด็กปฐมวัย  ช่วงอายุ 3-6 ปี เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้ (D)  ชั้น 3 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ ด้านเนื้อหา (Content) ที่ควรมุ่งสื่อสารเพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ไม่ว่าจะเป็น  รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี คุณธิดา พิทักษ์สินสุข (ครูหวาน) กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย  ดร.แพง ชินพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีเพื่อเด็กปฐมวัย  และรศ.นพ.วีระศักดิ์ ชลไชยะ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับการทดลองผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กปฐมวัยนั้นได้รายการโทรทัศน์ที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยในช่วง 3-6 ขวบ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการ flowers Power ความยาว 5 นาทีจำนวน 2 ตอน และรายการ Sound to Song ความยาว 5 นาที จำนวน 2 ตอน โดยจะนำรายการที่ผลิตไปทดลองให้เด็กๆได้รับชม เพื่อให้ทราบผลตอบรับในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอเพื่อการพัฒนาการผลิตรายการสำหรับสำหรับเด็กปฐมวัยให้มีเหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยยิ่งขึ้นต่อไป

——————-