DITP แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออก วางแผนเจาะตลาดสินค้าและบริการผู้สูงอายุในเกาหลี

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย จับตาตลาดสินค้าและบริการผู้สูงอายุในเกาหลี หลังพบมีแนวโน้มเติบโตสูงตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ เผยอาหาร สินค้าและบริการด้านสุขภาพ อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีโอกาสสูง


นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ สำรวจโอกาสทางการค้าและการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ ณ กรุงโซล ถึงโอกาสสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการทำตลาดในเกาหลี เพราะปัจจุบันเกาหลีกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และรัฐบาลเกาหลียังให้ความสำคัญกับดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุ และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะศึกษาตลาดและวางแผนการส่งออกสินค้าเพื่อป้อนความต้องการของตลาดได้
สำหรับสินค้าและบริการที่มีโอกาส เช่น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์หรือการดูแลสุขภาพ เครื่องสำอาง อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันสำหรับผู้สูงอายุ เช่น เก้าอี้ เตียง ไม้เท้า รถเข็น เสื้อผ้า รวมถึงบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในปี 2562 จำนวนผู้สูงอายุในเกาหลี ที่มีอายุเกิน 65 ปี อยู่ที่ 14.9% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 20.8% ในปี 2569 ซึ่งรัฐบาลเกาหลีได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยได้มีการออกพ.ร.บ.ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และยังให้ความสำคัญกับบริการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุ เช่น การรักษาพยาบาล การพัฒนาสุขภาพ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ การท่องเที่ยว การให้บริการด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และบริการด้านการเงิน เป็นต้น รวมทั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี ได้มีการมอบเครื่องหมาย C-Mark ให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุด้วย

น.ส.วิลาสินี โนนศรีชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรผู้สูงอายุในประเทศเกาหลีเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการเกิดใหม่ของประชากรประเทศเกาหลีนั้นต่ำมาก จึงคาดว่าในอนาคตอันใกล้ สังคมผู้สูงอายุในประเทศเกาหลีจะเจริญเติบโตและขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ และเกาหลี ยังมีบริการสำหรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่ครบครัน จึงเล็งเห็นว่าสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุของไทย มีศักยภาพมากในการทำตลาดเกาหลี ผู้ผลิต ผู้ส่งออก จึงควรศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดประเทศเกาหลีอย่างใกล้ชิด ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อนำไปปรับใช้และพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคประเทศเกาหลีมากที่สุด

สำหรับรายงานอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุ ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพแห่งเกาหลี หรือKHIDI ระบุว่า ในปี 2555 ตลาดอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุในประเทศเกาหลีใต้มีมูลค่า 24,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อปี ร้อยละ 13 ตั้งแต่ปี 2555-2563 ขนาดของตลาดการดูแลผู้สูงอายุ ประกอบไปด้วย 8 กลุ่ม ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้แก่ การบริการดูแล ยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอาง อาหาร การพักผ่อน ที่อยู่อาศัย และสินค้าบริโภคอื่นๆ โดยจากการคาดการณ์ในปี 2563 แสดงให้เห็นว่า ตลาดเพื่อการพักผ่อนของผู้สูงอายุ จะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คิดเป็น 36% ตามด้วย อาหาร (24%) การบริการ ดูแล (13.8%) และยา (13.4%)

———————–