กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายขยายศักยภาพการตรวจเชิงรุกระดมค้นหา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ขยายศักยภาพการตรวจเชื้อโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการ  เพื่อรองรับการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งเป้าการตรวจให้ได้ไม่น้อยกว่า 100,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการรองรับการตรวจค้นหา ผู้ป่วยเชิงรุก (Active case finding) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อบูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร ในการลงพื้นที่ปูพรม  ตรวจเชื้อเชิงรุก โดยเป้าหมายเป็นกลุ่มแม่ค้า พ่อค้า คนในชุมชน รวมถึงโรงงานที่มีแรงงานทั้งคนไทยและ ชาวเมียนมาจำนวนมากให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งหากพบเชื้อจะต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดต่อไป

สำหรับการวางแผนดำเนินงานของจังหวัดสมุทรสาครนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร และเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ UHosNet ประมาณ 30 ทีม ซึ่งมีศักยภาพ ในการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Swab หรือใช้สารคัดหลั่งจากโพรงจมูก โดยในส่วนกลางสามารถตรวจได้ 4,700 ตัวอย่างต่อวันและเครือข่ายในจังหวัด 8,000 ตัวอย่างต่อวัน หรือรวมแล้ว 90,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ทางเครือข่ายของมหาวิทยาลัยสามารถตรวจได้อีก 10,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ทำให้การตรวจ ทางห้องปฏิบัติการเชิงรุกสามารถตรวจได้ถึง 100,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ซึ่งได้มีการบริหารจัดการแล้วและในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทั้งจาก NP Swab และการเก็บตัวอย่างน้ำลาย (saliva)

“ที่ประชุมมีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดส่งแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active case Finding) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อร่วมพิจารณา หากจำนวนตัวอย่างเกินศักยภาพของพื้นที่จะร่วมบริหารจัดการส่งตัวอย่างไปยังเครือข่ายต่อไป โดยมีเป้าหมายในการรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง เน้นความสำคัญที่การระบุตัวบุคคลที่สามารถติดต่อกลับไปได้  และให้กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามโครงการเรื่อง Matching Fund เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ  เข้าร่วมระบบเพื่อตรวจหาเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้หารือเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สามารถรองรับการตรวจ ในกรณีที่เกินศักยภาพของโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร โดยให้แจ้งศักยภาพการตรวจมายังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อบริหารจัดการต่อไป” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

———————