สนข. ร่วมประชุมเพื่อติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2564 เรื่อง การพัฒนา ยานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านระบบทางไกล VDO CONFERENCE

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานการประชุมการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า ผ่านระบบทางไกล VDO CONFERENCE เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2564 โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กรมเจ้าท่า (จท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม (กองยุทธศาสตร์และแผนงาน) เข้าร่วมประชุมดังกล่าว

สนข. ได้นำเสนอในที่ประชุมทราบถึงสถานการณ์ของประเทศไทยด้านพลังงาน ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2562 ประเทศไทยมีแนวโน้มในการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาขนส่งและสาขาอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคขนส่ง พบว่ามีสัดส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปสูงถึงร้อยละ 94.8 (โดยเป็นการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว : HSD ประมาณ 15,000 พันตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe)) รองลงมาเป็นก๊าซธรรมชาติ 5.09 และไฟฟ้า 0.059 ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น สาขาขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันดับ 2 รองจากสาขาอุตสาหกรรมพลังงาน โดยการขนส่งทางถนน
ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 98 รองลงมาคือ การขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางราง ตามลำดับ ส่วนเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล พบว่า สัดส่วนฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากไอเสียดีเซลและการเผาชีวะมวล ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (2561 – 2580) อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Transport Development) ตามแนวคิด Sustainable Transport Development หรือ  A-S-I Approach ที่มุ่งเน้นในการปรับปรุงยานพาหนะสำหรับการเดินทาง ให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยมลพิษ

สำหรับการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า สนข. ได้ศึกษาและจัดลำดับความสำคัญของประเภทยานพาหนะ โดยใช้มูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า รถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ มีมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่สูงที่สุด ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อจำกัดต่าง ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย ระยะทางเดินรถ น้ำหนักและแบตเตอรี่ รวมทั้งความเหมาะสมในการใช้งาน ในเบื้องต้น พบว่า รถโดยสารระหว่างเมืองระยะทางวิ่งประมาณ 200-250 กม./เที่ยว และรถโดยสารสาธารณะในเมืองมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็นยายนยนต์ไฟฟ้าเป็นลำดับแรก และควรมีมาตรการผลักดันและช่วยเหลือจากภาครัฐตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย

-การส่งเสริมการลงทุนให้ผู้ประกอบการแบตเตอรี่ ผลิตชิ้นส่วน และประกอบรถโดยสารไฟฟ้าผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

-ยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตของเซลล์แบตเตอรี่ ให้ผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับการส่งเสริมผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

-กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าคงที่สำหรับรถโดยสารไฟฟ้า

-การสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการตามสัดส่วนมูลค่าการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เหมาะสม

-การเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐาน กฎ ระเบียบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบการนำเสนอการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้งทางถนน ทางราง และทาน้ำ โดยมีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

-มอบ ขบ. เร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดอัตราภาษีรถยนต์
โดยส่งเสริมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น ๑. กำหนดอัตราภาษีให้เหมาะสมตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และขนาดของเครื่องยนต์ (cc) 2. ยกเว้นภาษีประจำปี ๓ – ๕ ปีแรก สำหรับรถไฟฟ้า (BEV)

-มอบ จท. พัฒนาและส่งเสริมการใช้เรือไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครอบคลุมทั้งมิติ
การขนส่งมวลชนและการท่องเที่ยว ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือและขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาคเอกชนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล

-มอบ ขร. และ รฟท. เร่งรัดดำเนินการในการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train
มาใช้กับรถไฟไทย รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้อง ตามหลักธรรมาภิบาล

-มอบ สนข. ประสานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน ในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า โดยเบื้องต้นให้ประสานกระทรวงพลังงาน ในการเตรียมความพร้อมและสำรวจปริมาณความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เพื่อรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอต่อการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ท้ายที่สุด หน่วยงานของภาครัฐควรมีการบูรณาการเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและพัฒนายานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รวมทั้ง
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

————-