นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสถานีกลางบางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการปลายปี 2564


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจความพร้อมของสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน เพื่อดูความพร้อมก่อนเปิดให้บริการประชาชนในปลายปี 2564 โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ และสื่อมวลชน ร่วมตรวจความพร้อม และมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมโครงการฯ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 ณ สถานีกลางบางซื่อ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อตรวจความพร้อมของโครงการฯ ก่อนที่จะเปิดให้บริการประชาชนในปลายปี 2564 โดยได้ทดลองโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ซึ่งมีระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จำนวน 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะต้องซ่อมบำรุงในส่วนที่เป็นสถานี ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมานานและไม่ได้เปิดใช้บริการ ต้องมีการปรับพื้นทางให้ได้มาตรฐานเพื่อให้สามารถเดินรถได้เต็มประสิทธิภาพ การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีบางซื่อ – ตลิ่งชัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 นาที หากใช้รถยนต์อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดย รฟท. จะทดลองเดินรถเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 และมีแผนการซ่อมบำรุงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ซึ่งในเดือนเมษายน 2564 ระบบทุกอย่างจะสมบูรณ์


ในส่วนการบริหารการใช้พื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 4 แสนตารางเมตร ได้มอบแนวคิดเป็นหลักการว่า ให้ รฟท. บริหารจัดการพื้นที่ให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยให้ รฟท. พิจารณาสัดส่วนการใช้พื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้อย่างเหมาะสม ทำให้สถานีกลางบางซื่อเป็น Smart Station เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มผลิตสินค้า OTOP ใช้เป็นตลาดจำหน่ายสินค้า OTOP อย่างยั่งยืน นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่เพื่อลดต้นทุน บริหารโดยยึดหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และ รฟท. จะต้องรายงานแผนการใช้พื้นที่ต่อกระทรวงฯ ภายใน 1 สัปดาห์

สำหรับการบริหารพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีพื้นที่จำนวน 9 แปลง ประมาณ 2,000 กว่าไร่ รฟท. ยืนยันว่า พื้นที่ 5 แปลงแรก สามารถออกข้อกำหนดและเงื่อนไขรายละเอียดได้ทันที โดยจะออกข้อกำหนดให้เป็นสถานที่ทำงาน ศูนย์ราชการ ที่อยู่อาศัย พื้นที่เชิงพาณิชย์ และเป็น Smart City ส่วนที่เหลืออีก 4 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะต้องมีการรื้อย้ายสิ่งต่าง ๆ ออกไป เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด เป็นต้น ได้ให้ รฟท. พิจารณากำหนดระยะเวลาในการรื้อย้ายที่ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถออกข้อกำหนดและเงื่อนไขรายละเอียดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้พื้นที่ทั้ง 9 แปลง สามารถดำเนินการควบคู่กันได้
ส่วนแผนการบริหารจัดการเดินรถไฟทางไกลของ รฟท. ที่มีสถานีต้นทางและปลายทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีขบวนรถประมาณ 188 ขบวน ซึ่งในปี 2566 จะไม่มีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงนั้น สามารถปรับแผนบริหารจัดการเดินรถได้

โดยมีเป้าหมายจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงเชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยจะไม่มีรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง หรือหากจะต้องมีขบวนรถไฟทางไกลวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงเพื่อทำการเติมน้ำมัน จะต้องวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. เท่านั้น เพื่อให้การจราจรทางถนนในกรุงเทพฯ ไม่ติดขัดเพราะขบวนรถไฟ ส่วนพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ ได้วางแผนว่าจะทำเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้า โดยแผนการเดินรถดังกล่าว ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงคมนาคม จะร่วมกันพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

—————————-