กรมเจ้าท่ามีภารกิจหลักในการกำกับดูแลและพัฒนาการขนส่งทางน้ำของประเทศ โดยส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำของประเทศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ กรมเจ้าท่า จึงเดินหน้าแผนงานพัฒนาปรับปรุง ยกระดับท่าเรือ รองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งทะเลอ่าวไทย รวมถึงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ฝั่งอันดามัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย พร้อมหนุนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำหรือทางทะเลซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของประเทศไทย
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวทางทะเล มีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ แต่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง จึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ นอกจากสนับสนุนไทยเที่ยวไทย การสร้างท่าเรือก็มีความสำคัญ โดยกรมเจ้าท่าร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อฟื้นการท่องเที่ยวทางน้ำ ทางทะเล เป็นการเชื่อมยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือควบคู่กัน สำหรับท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ถือเป็นท่าเรือสำคัญของท้องทะเลอันดามันและเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของไทยอีกแห่ง โดยท่าเรือปากเมงต้องได้รับการปรับปรุงเนื่องจากใช้งานมานานถึง 30 ปี มีสภาพทรุดโทรม และแออัดเป็นอย่างมาก ขนาดท่าเรือไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุด หรือเทศกาลต่างๆ มีทั้งเรือขนาดใหญ่ เรือหางยาว และเรือสปีดโบ๊ทเข้ามาใช้บริการถึงวันละไม่ต่ำกว่า 100 ลำ กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พัฒนาบรรณกิจ ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงเป็นเวลา 630 วัน ใช้แนวคิดการออกแบบและการบริการเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design & Service Design) คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 นี้
ทั้งนี้ หลังแล้วเสร็จจะมีการใช้งานที่สมบูรณ์ครบถ้วน โดยมีพื้นที่ท่าเรือที่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พื้นที่ด้านหลังท่ามีพื้นที่การใช้สอยที่สามารถอำนวยความสะดวก สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรังและยังเป็นท่าเรือที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน อาทิ เส้นทาง ปากเมง-เกาะหลีเป๊ะ ปากเมง-เกาะลันตา เป็นการสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นและประเทศอย่างมหาศาล พร้อมรองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รองรับการเชื่อมโยงในอนาคต ลงเครื่องบิน ต่อรถ ลงเรือ ไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆในจังหวัดตรัง เกิดเป็นเส้นทางการเดินเรือ “วงแหวนอันดามัน” ในอนาคตได้
………………………………….