เลขาฯ ดวงฤทธิ์ พบผู้บริหาร Uninet : มอบนโยบายการดำเนินงาน

25 มกราคม 2564 : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีฯ ในฐานะโฆษกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประชุมหารือผู้บริหารสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา (UniNet) พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานฯ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา (UniNet) พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานฯ เข้าร่วมรับฟัง และสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ดังนี้

  1. โครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายความเร็วสูง ให้บริการด้วยความเร็ว 1-10 Gbps ผ่านโครงข่ายแกนหลักที่ความเร็ว 100 Gbps ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาที่ได้รับบริการความเร็ว 10 Gbps เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (วังน้อย) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  2. eduroam เป็นโครงการบริการ Wi-Fi ให้แก่นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย ในสถาบันการศึกษาและวิจัย ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในประเทศไทยมากกว่า 60 แห่ง และสมาชิกทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ สถาบันการศึกษาสามารถยื่นคำขอการใช้งาน eduroam ผ่าน UniNet นิสิตนักศึกษาและนักวิจัย สามารถ login ใช้งานระบบโดยการกรอก Username และ Password ที่สถาบันการศึกษาดำเนินการให้
  3. ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ จำนวน 3 ระบบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สป.อว. เพื่อพัฒนาระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ทดแทนใช้ software ราคาแพงจากต่างประเทศและได้มาตรฐานสากล ปัจจุบัน มีผู้ใช้งานมากกว่า 126 แห่ง
  4. ระบบไอทีสิส หรือ Integrated Thesis & Research Management System (iThesis) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดทำวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนิสิตนักศึกษา และอาจารย์ผู้ควบคุมการจัดทำวิทยานิพนธ์และสารนิพนธ์ ป้องกันการลักลอกวรรณกรรม และเป็นแหล่งข้อมูลตั้งต้นสำหรับการวิเคราะห์ทิศทางการวิจัยของประเทศไทย
  5. Telemedicine เป็นระบบการประชุมทางไกลทางด้านการแพทย์ความละเอียดสูง ใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ปัจจุบันมีหน่วยงานในประเทศใช้งานจำนวน 12 แห่ง และมีสมาชิกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประมา ศาสตระรุจิ ได้กล่าวตอบรับนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงาน และพร้อมร่วมมือร่วมแก้ปัญหา เร่งสร้างการรับรู้ให้มีความเข้าใจกันอย่างกว้างขวางและมีความชัดเจนในการทำงาน เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไปในอนาคต.