กรมอนามัย คาด ปี’64 สูงอายุเพิ่ม 5.6 ล้านคน เตรียมแผนงานส่งเสริมสุขภาพสูงอายุระยะยาว

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุในระดับ cluster กลุ่มผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้แจงนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) แก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน      เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ในระดับ cluster กลุ่มผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัด ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึงร้อยละ 17.52 ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ทั้งประเทศ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีจำนวน 4.6 ล้านคน หรือร้อยละ 42.9 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5.6 ล้านคนในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งจากการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมโดยรวม เพราะจากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทยปี 2553-2583 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ในปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป    สูงถึง 20.5 ล้านคนหรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด แต่จะมีประชากรวัยแรงงานเพียง  35.18 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2553 ที่มีประชากรวัยแรงงานจำนวน 42.74 ล้านคน หรือลดลง 7.6 ล้านคน  ทำให้โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า จากการลดลงของจำนวนและสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานและการเพิ่มของจำนวนประชากรผู้สูงอายุสะท้อนให้เห็นถึงการจัดระบบบริการด้านสุขภาพ ให้กับประชากรที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงต้องเผชิญกับปัญหาสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และระบบการดูแลที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงความมั่นคงทางด้านรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ที่มีฐานะยากจน ส่วนหนึ่งยังมีปัญหาเรื่องรายได้ การขาดผู้ดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการวางแผนรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ภายในทศวรรษต่อไป คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน” โดยกำหนดผลกระทบระดับชาติ 20 ปีไว้ คือ 1.อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 85 ปี และ 2.อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 75 ปี ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานตอนปลายเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุโดย ผลักดันความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานนำแนวทางการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณอายุไปใช้กับแรงงานในสถานประกอบการ พัฒนาระบบเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพวัยทำงานตอนปลาย (ระบบSelf-Assessment และให้ความรู้ผ่าน Digital platform) และพัฒนาความร่วมมือ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย เช่น ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ สถานประกอบการ ขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานตอนปลายระดับเขตร่วมกับสถานประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน พัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานตอนปลายในสถานประกอบการ

“ทั้งนี้ การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ โดยการยืดเวลาของการเข้าสู่ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังหรือการเข้าสู่ภาวะทุพพลภาพออกไปที่เน้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง รวมถึงการเตรียมการเพื่อรองรับสภาพปัญหาดังกล่าว  กรมอนามัย จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานแก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุในระดับ cluster  กลุ่มผู้สูงอายุส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และระดับจังหวัดในครั้งนี้ ถือเป็นการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้แจงนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว 2 แผนงาน ได้แก่ 1.แผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยมีกิจกรรมประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงาน โครงการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและป้องกันภาวะสมองเสื่อม และโครงการพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ และ2.แผนบูรณาการสร้างความเสมอภาคเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย โครงการพัฒนาระบบการดูแลด้านสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) ในชุมชน และโครงการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุภายใต้แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 แก่ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ โดยมี ผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบงานผู้สูงอายุ ภาคีเครือข่ายการดำเนินงาน cluster กลุ่มผู้สูงอายุ ระดับส่วนกลาง   ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 250 คน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ