รมช.มนัญญา ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนพัฒนาชุมชนบ้านพุตะแบก จำกัด

วันที่ 25 มกราคม 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เยี่ยมชมการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนพัฒนาชุมชนบ้านพุตะแบก จำกัด ตำบลเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี

นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายประยูร พะมะ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ รักษาราชการแทน สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประธานกรรมการสหกรณ์ฯ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรในพื้นที่ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติงานของคณะกรรมการดำเนินงานและฝ่ายจัดการของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนพัฒนาชุมชนบ้านพุตะแบก จำกัด และพบปะพี่น้องเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ รับฟังปัญหา ความต้องการด้านต่าง ๆ ของผู้นำสหกรณ์พี่น้องสมาชิกสหกรณ์ พร้อมกล่าวมอบนโยบายการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะดำเนินการในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทำอาชีพการเกษตร จึงได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพอย่างครบวงจร ให้มีการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบการทำเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) เพื่อให้สินค้าเกษตรมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 340 ชุดและมอบปัจจัยการผลิตแก่สมาชิกสหกรณ์ ได้แก่ พันธุ์ปลา พันธุ์มะพร้าวชุมพร 2 เมล็ดพันธุ์ผักและชีวภัณฑ์ น้ำหมักชีวภาพ ให้กับผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ จำนวน 40 ราย และได้พบปะผู้แทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 55 ราย มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1 แห่ง โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ดำเนินการจัดอบรม ให้ความรู้ในเรื่องอุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ อบรมการจัดทำแผนการผลิต เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ การจัดทำแผนด้านการเกษตร การปลูกพืชผสมผสาน สามารถจำหน่ายผลผลิตได้รายปี รายเดือนและรายวัน ศึกษาดูงานศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และพร้อมที่จะต่อยอดนำไปดำเนินการยังพื้นที่ของตนเองรวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาอาชีพการเกษตรอีกด้วย

————–