โรงพยาบาลสนาม พิชิตโควิด-19

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th

โรงพยาบาลสนาม สำคัญอย่างไร ? ทำไมต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19เป็นจำนวนมาก แล้วจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในบริเวณนั้นหรือไม่ ? หลากหลายคำถามที่เกิดขึ้นจนเป็นประเด็นให้กล่าวถึงกันมากในสังคม โดยเฉพาะใน “โลกโซเชียล”

เมื่อมีกระแสในด้านลบว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามมีความเสี่ยงต่อคนในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านและชุมชนเกิดความหวาดกลัวว่าจะติดเชื้อโควิด-19 และร่วมกันต่อต้านไม่ให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น ด้วยเหตุนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวชี้แจงถึงความสำคัญของโรงพยาบาลสนาม เพื่อไขข้อสงสัยและสร้างความเข้าใจต่อประชาชน

“การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะรอบหลังนี้ มีแนวโน้มกำลังแพร่กระจายออกไป สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ ผู้ที่ติดเชื้อติดต่อกันภายในประเทศ โดยที่ตามหาต้นตอยังไม่ได้ กลุ่มนี้น่าเป็นห่วง ซึ่งกลุ่มนี้เราจะคาดการณ์ไม่ได้เต็มที่ ถ้าเกิดกลุ่มนี้ขยายวงไปเพราะเขาไม่รู้ หรือรู้แล้วแต่ไม่ยอมมาพบแพทย์ ปิดบังข้อมูลตัวเองแล้วเกิดการขยายไปอีกเยอะ หากถึงตอนนั้นทันทีที่โรงพยาบาลธรรมดาเต็ม เราไม่มีเวลาสร้างโรงพยาบาลสนามแล้วถ้าไม่เริ่มคิดตั้งแต่วันนี้”

ศ.นพ.ประสิทธิ์  อธิบายต่อว่า การระบาดโควิด-19 รอบนี้มีการพูดถึงเรื่องโรงพยาบาลสนามเยอะขึ้น การเตรียมโรงพยาบาลสนามไม่ใช่เป็นโรงพยาบาลที่เกิดขึ้นได้ในเวลาสั้นๆ ต้องจัดตั้งตามหลักวิชาการทางการแพทย์ มีกระบวนการ มีระบบที่ต้องทำเต็มรูปแบบ เราจะใช้พื้นที่บางพื้นที่ที่มีอยู่แล้วปรับระบบ ปรับกระบวนการต่างๆ ทำหน้าที่โรงพยาบาลสนาม  ในขณะเดียวกันฝึกคนเพื่อทำหน้าที่ตรงนี้ อยากให้ทุกท่านมองโรงพยาบาลสนามในเชิงบวก เพราะมันเป็นผลบวกต่อการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 จริงๆ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกำกับ ยับยั้งไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19  ส่วนจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง มีคนไข้ไม่เยอะ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตั้งโรงพยาบาลสนาม

โรงพยาบาลสนามสำคัญอย่างไร

1.หากพื้นที่ใดมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้มีจำนวนเตียงเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยและสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้โรงพยาบาลทั่วไปมีเตียงรองรับ ผู้ป่วยประเภทอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ร่วมกับผู้ป่วยประเภทอื่นๆ  เพื่อลดอัตราเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อเพิ่มขึ้น หรือควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายออกนอกพื้นที่

2.หากทำการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลทั่วไป บุคลากรในโรงพยาบาลนั้นก็จะมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยประเภทอื่นๆ ลดลง

3.การจัดพื้นที่ที่มีระบบและมาตรการในการควบคุม เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จะทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ง่ายขึ้น เกิดความปลอดภัย และลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน

4.การมีโรงพยาบาลสนาม จะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง เพราะโรงพยาบาลสนามไม่ได้รับดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก แต่จะดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่มาก และคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะมีกระบวนการส่งต่อที่รวดเร็ว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย ไม่แพร่กระจายเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ดูแลจากโรงพยาบาลที่มีศักยภาพโดยเร็วที่สุด

เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การใช้ชีวิตตามความปกติเดิมต้องเปลี่ยนแปลงไป สสส. ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยปฏิบัติตัวแบบ “ชีวิตวิถีใหม่”  สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม และที่สำคัญไม่ปกปิดข้อมูล รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 มากขึ้น

———————–