โขง-เลย-ชี-มูล กับการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สู่ประโยชน์ที่ราบสูงอย่างแท้จริง

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง เป็นโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันขับเคลื่อนโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาและบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำโดยแรงโน้มถ่วงในพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้เมื่อปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่ชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 13.61 ของพื้นที่การเกษตร ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่คิดเป็นครัวเรือนประกอบอาชีพเกษตรกรถึงร้อยละ 46.53 ซึ่งมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในประเทศ แต่กลับพบว่ารายได้ต่อครัวเรือนในแต่ละปีต่ำที่สุด การพัฒนาแหล่งน้ำโดยใช้น้ำจากลุ่มน้ำภายในประเทศเต็มศักยภาพจะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้รวม 14.3 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนต่อพื้นที่การเกษตรเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูงและมีลักษณะแบนราบ แหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีน้อย การนำน้ำมาใช้ส่วนใหญ่ต้องใช้การสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่นอกเขตชลประทานต่ำกว่าผลผลิตของพื้นที่ชลประทานถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังประสบปัญหาดินเค็มถึง 10.48 ล้านไร่ ซึ่งเป็นดินเค็มปานกลางถึงเค็มจัด 287,060 ไร่ (ร้อยละ 2.7) ส่วนที่เหลือเป็นดินเค็มน้อยถึงเค็มเล็กน้อย หากถ้ามีน้ำเพียงพอก็จะสามารถปลูกข้าวได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ เมื่อมีการพัฒนา โครงการโขง-เลย-ชี-มูล อย่างเต็มศักยภาพแล้ว จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในลุ่มน้ำ โดยการผันน้ำได้ 29,869 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 33.57 ล้านไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์ในภาคการเกษตร 1.44 ล้านครัวเรือน สร้างรายได้ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 85,672 บาท/ครัวเรือน/ปี ลดความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่วิกฤตแห้งแล้งและส่งน้ำได้ยาก โดยได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการในระยะที่ 1 แล้วเสร็จเมื่อปี 2560 ขณะนี้ โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ได้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระยะที่ 1

ในส่วนโครงการเขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล เขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร กรมชลประทานได้รับถ่ายโอนภารกิจต่อจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเมื่อ พ.ศ.2545 ปัจจุบันกรมอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมภายหลังการก่อสร้าง (Post-EIA) ของโครงการดังกล่าว ซึ่งจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2562

อย่างไรก็ตาม ความกังวลในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของโครงการนั้น กรมชลประทานยังคงมุ่งมั่นศึกษาความเหมาะสมของโครงการในทุกด้านเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และมีแผนพัฒนาโครงการเพื่อให้ใช้ประโยชน์โครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ ต่อไป

**********************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์