กรมควบคุมโรค แนะในช่วงหน้าหนาวนี้ ผู้ปกครองและสถานศึกษาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยโรคมือ เท้า ปาก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะในช่วงหน้าหนาวนี้ระวังเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ขอให้ผู้ปกครองดูแลและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วงที่เด็กหยุดเรียนอยู่บ้านเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเปิดเรียนตามปกติ ขอให้เคร่งครัดมาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าเรียน หากมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

วันที่ 21 มกราคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วง  ฤดูหนาว โรคที่ต้องระมัดระวังคือ โรคมือ เท้า ปาก ซึ่งพบอัตราป่วยมากที่สุดในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียน ประกอบกับช่วงนี้ในบางพื้นที่ โรงเรียนประกาศให้เด็กหยุดอยู่บ้านเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เด็กๆ อาจมีการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ในชุมชน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปากได้ ซึ่งโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเปิดเรียนได้ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและเปิดเรียนตามปกติในขณะนี้ ขอให้เคร่งครัดมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการเด็ก ร่วมกับมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ก่อนเข้าเรียนทุกเช้า หากพบเด็กป่วยให้แยกออกจากเด็กปกติและแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด

สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 32,304 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตส่วนในปี 2564 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1-17 มกราคม 2564 มีรายงานผู้ป่วย 916 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ เด็กแรกเกิด-4 ปี(ร้อยละ 87.5) รองลงมาคืออายุ 5 ปี (ร้อยละ 4.69) และอายุ 7-9 ปี (ร้อยละ 4.15) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา แพร่ เชียงราย เลย และสุราษฎร์ธานี ตามลำดับ อาการของเด็กที่ป่วยจะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำผู้ปกครองเพิ่มเติมว่า ขอให้ดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานในช่วงอยู่บ้านอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้ วิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1.ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เนื่องจากเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้  2.หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท  3.หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดการสะสมของเชื้อบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น  4.หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างกัน อย่างน้อย 1-2 เมตร แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ หากบุตรหลานมีอาการข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด 19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

————-