นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คณะที่ 3.2 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เข้าร่วมประชุม สรุปผลการประชุมดังนี้

1.ที่ประชุมรับทราบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงฯ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ

2.ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำผลเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ

4.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน

5.ที่ประชุมได้พิจารณา ข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่ประชุมฯ ให้ความเห็นชอบคำของบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ของหน่วยงาน 9 กระทรวง (33 หน่วยงาน) ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีกรอบวงเงินรวม 327,174.2039 ล้านบาท ได้แก่

แนวทางที่ 1.1 พัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาเดินทาง เชื่อมการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ จำนวน 324,945.1410 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง 240,153.7763 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 23,313.0129 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 818.3311 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 11,034.9990 ล้านบาท กรมเจ้าท่า 5,213.7540 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 955.4300 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย 18,003.5836 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 20.609.1370 ล้านบาท

แนวทางที่ 1.2 การกำกับและดูแลพัฒนามาตรฐานการคมนาคมขนส่งที่มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 859.6154 ล้านบาท ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 192.0852 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร 439.8128 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 14.0000 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 97.5674 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง 96.1500 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 20.0000 ล้านบาท

แนวทางที่ 2.1 พัฒนาระบบ NSW ให้สมบูรณ์ครอบคลุมเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า 60.8222 ล้านบาท

แนวทางที่ 2.2 พัฒนาเพิ่มมูลค่าระบบห่วงโซ่อุปทาน และเชื่อมโยงการค้าสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 154.7185 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 121.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 33.7185 ล้านบาท

แนวทางที่ 2.3 พัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย (LSPs) และสร้างพันธมิตรภูมิภาค ประกอบด้วย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 25.0000 ล้านบาท

แนวทางที่ 2.4 พัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ (มาตรฐาน ความเชี่ยวชาญ และคุณภาพบุคลากรวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี พัฒนาข้อมูลและการติดตามประเมินผล) จำนวน 1,128.9068 ล้านบาท ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 22.5000ล้านบาท กรมเจ้าท่า 35.0000 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 39.1553 ล้านบาท สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 370.2500 ล้านบาท กรมส่งเสริมการเกษตร 95.1660 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 3.9355 ล้านบาท สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ 54.0000 ล้านบาท สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 64.0000 ล้านบาท สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 240.0000 ล้านบาท สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 57.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น 10.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยนครพนม 14.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 69.2000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยพะเยา 15.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมวัน 5.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 7.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 16.5000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย 5.0000 ล้านบาท มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 0.2000 ล้านบาท และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 6.0000 ล้านบาท

——————–