รมว.พม. ให้กำลังใจ คณะเยาวชนพิการไทย ก่อนร่วมแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล 2561 ณ สาธารณรัฐอินเดีย

 

วันที่ 7 พ.ย. 61 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้คณะเยาวชนพิการไทย เข้าเยี่ยมคาราวะและให้โอวาทเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ ก่อนการเดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสากล ประจำปี 2561 “2018 Global IT Challenge for Youth with Disabilities” ระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย พร้อมมอบทุนสนับสนุนการเข้าร่วมแข่งขันแก่คณะเยาวชนพิการไทยดังกล่าว

 

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม สำหรับกลุ่มคนพิการ ทางรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนพิการให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันและมีส่วนร่วมในสังคม ได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ด้วยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิสวัสดิการ ตลอดจนสนับสนุนศักยภาพขององค์กรด้านคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อีกทั้งสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ กระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) จึงได้จัดค่ายคัดเลือกเยาวชนพิการไทย อายุระหว่าง 13 – 21 ปี เพื่อเข้าเก็บตัวและเตรียมความพร้อมให้กับคณะเยาวชนพิการไทย ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ก่อนเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันความท้าทายทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับสากล ประจำปี 2561 “2018 Global IT Challenge for Youth with Disabilities” โดยแบ่งการแข่งขันเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1)eTool challenge 2) eLifeMap challenge 3) eContent challenge และ 4)eCreative challenge และในวันนี้ กระทรวง พม. โดย พก. จึงได้จัดพิธีให้โอวาทแก่คณะเยาวชนพิการไทยที่เข้าเยี่ยมคารวะก่อนเดินทางไปเข้าร่วมแข่งขันดังกล่าว พร้อมมอบทุนสนับสนุน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คณะเยาวชนพิการไทยดังกล่าว จำนวน 8 คน ประกอบด้วย 1) นางสาวนภัทร ประวิทย์ชาติ อายุ 19 ปี พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่พัทยา 2) นายธนกฤต ตาสุขะ อายุ 18 ปี พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จากโรงเรียนศรีสังวาล จังหวัดเชียงใหม่ 3) นายพงษ์พิทักษ์ ไขรัมย์ อายุ 20 ปี พิการทางสติปัญญา จากโรงเรียนนครราชสีมาปัญญานุกูล จังหวัดนครราชสีมา 4) นายธฤต ไพบูลย์วุฒิโชค อายุ 21 ปี พิการทางสติปัญญา จากศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษพระมหาไถ่ 5) นางสาวศุภากร ชันษา ชันษา อายุ 18 ปี พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านศรีวนาไล จังหวัดอุบลราชธานี 6) นางสาวบัวชมพู ศรีวิรัช อายุ 19 ปี พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จากโรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ 7) นายบุญเหลือ อินมา อายุ 19 ปี พิการทางการเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระราชูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ และ 8) นายเจษฎาพร สิงห์ชา อายุ 15 ปี พิการทางการเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อีกทั้งคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนทั้งสิ้น 15 คน นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากองค์กร Rehabilitation International Korea (RI Korea) สาธารณรัฐเกาหลี รัฐบาลของสาธารณรัฐอินเดีย และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

“การแข่งขันความท้าทายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศครั้งนี้ ตนหวังว่าเป็นโอกาสอันดีของคณะเยาวชนพิการไทย พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ จะได้เสริมสร้างศักยภาพทางด้านความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เยาวชนพิการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสารในสังคมได้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี โดยขอให้แสดงความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันอย่างเต็มที่ จนประสบความสำเร็จ และนำชื่อเสียงกลับสู่ประเทศไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ อีกทั้งได้นำประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้ มาใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต เคารพในกติกา การรู้แพ้ รู้ชนะ มีน้ำใจให้กันและกัน และสร้างมิตรภาพที่ดีต่อเพื่อนเยาวชนพิการจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ กระทรวง พม. พร้อมให้การสนับสนุนเยาวชนพิการทุกคนในระดับนานชาติอย่างเต็มที่และต่อเนื่องต่อไป” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย

##########