การประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4

ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (The 4th Annual Counter-Terrorism Financing Summit) ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ปีเตอร์ เครก ดัดตัน และ รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พลเอก วิรันโต ณ ห้องบอลรูม โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพมหานคร โดยมีพลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 350 คน จากนานาประเทศเข้าร่วมงาน

 

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ปีเตอร์ เครก ดัดตัน ได้กล่าวว่า นักรบต่างชาติยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญที่ส่งผลต่อประชาชนของประเทศอาเซียนและออสเตรเลีย

ด้วยความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เราจะมีความคืบหน้าในการต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรที่ร้ายแรง นายดัดตันกล่าว

การประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือและการประสานงานระหว่างประเทศในการต่อต้านภัยคุกคามเหล่านี้ และยังความปลอดภัยมาสู่ประชาชน

 

รัฐมนตรีประสานงานด้านการเมือง กฎหมาย และความมั่นคง แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พลเอก วิรันโต กล่าวว่าการริเริ่มจัดการประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายประสบความสำเร็จมาก ตลอดระยะเวลา ๔ ปีของความพยายามในการเสริมสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายร่วมกันได้กลายเป็นกลไกที่สำคัญในความร่วมมือและการประสานงาน ผลลัพธ์ที่สำคัญคือการลดลงอย่างมากของการก่อเหตุในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวคิดหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ ความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อแนวทางในการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาค (Regional Synergies for Regional Solutions) การเสริมความร่วมมือนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางการเงินที่มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในระดับภูมิภาคและระดับโลก

 

 

การประชุมในครั้งนี้จะเป็นการเน้นย้ำถึงขยายความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันที่มีมาอย่างยาวนานนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียในการต่อสู้กับการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายไปสู่การต่อสู้กับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ ในภูมิภาค เช่นการทุจริต และการค้ามนุษย์

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า การประชุมนี้ได้รับการยอมรับในระดับโลกในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือพหุภาคีในการสร้างความเข้าใจและการตอบโต้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและภัยคุกคามด้านการเงินที่สำคัญอื่นๆ

การประชุมสุดยอดด้านการต่อต้านการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายมีการจัดตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงก่อให้เกิดภาระและความซับซ้อนในการบริหารงานทั่วไป และการดำเนินงานประจำวัน จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาจัดตั้งสำนักงานเลขานุการอย่างเป็นทางการ และมีการดำเนินงานที่เป็นระบบ โดยในชั้นแรก อาจมีการจัดตั้งฝ่ายเลขานุการเสมือนที่บริหารงานโดยเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในแคนเบอร์รา และจาการ์ตา

ดังนั้น ผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมสุดยอดในครั้งนี้ คือแถลงการณ์กรุงเทพฯ ที่จะต่อยอดความสำเร็จไปสู่การเพิ่มความร่วมมืออย่างเป็นระบบโดยการจัดตั้งฝ่ายเลขานุการเสมือนที่จะดำเนินการจากทั้งจาการ์ตา และแคนเบอร์รา

ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานว่า ประเทศไทยตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดการกระชุม CTF Summit ในครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการรับมือและจัดการกับภัยคุกคามที่สำคัญสองประการซึ่งทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายโดยเฉพาะนักรบก่อการร้ายต่างชาติ หรือ กลุ่มไอเอส ซึ่งพบว่าได้มีการขยายและสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ในหลายพื้นที่ อาทิ แอฟริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ตในการเผยแพร่แนวคิดรุนแรง และมีแนวโน้มการก่อเหตุที่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทุกประเทศมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายได้ทุกนาที จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือและสกัดกั้นภัยก่อการร้ายให้เหมาะสมและทันกาล

นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามสำคัญที่หลีกเลี่ยงได้ยากในยุคดิจิตอลอันเนื่องจากการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ในด้านหนึ่งเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนให้กระทำความผิดได้สะดวกมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ พัฒนาการของเทคโนโลยีบล็อกเชน และคริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งในมุมนึงถือเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทสตาร์อัพใหม่ๆ ที่เกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ แต่อีกมุมนึง คริปโตเคอเรนซี่ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องอาชญกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นในฐานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย อาทิ ยาเสพติด การค้าอาวุธ การเรียกค่าไถ่ รวมทั้งการก่อการร้าย เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมและพิสูจน์ทราบตัวตนได้ยาก เพราะสามารถปิดบังตัวตนโดยการใช้ชื่อแฝงหรือชื่อปลอม

ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อรับมือและจัดการกับภัยคุกคามดังกล่าวข้างต้นอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย การป้องกันการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิด ควบคู่ไปกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านการฟอกเงินที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การทุจริตและการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตและการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องนอกจากนั้น ประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายที่สำคัญที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการกับภัยคุกคามดังกล่าว เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และการตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561

อย่างไรก็ดี แม้มาตรการปราบปรามการก่อการร้ายจะได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่เราจะอยู่ในสถานะที่เป็นเพียงผู้วิ่งไล่ตามอาชญากร ดังนั้นถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถูกยับยั้ง (disrupted) มาเป็นผู้ยับยั้ง (disruptor) ไม่ให้อาชญากรและผู้ก่อการร้ายกระทำความผิดได้สำเร็จ และเพื่อให้สามารถตรวจจับและก้าวไปดักหน้าอาชญากรให้ได้ ซึ่งปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้คือ ความเป็น innovator changer และ synergizer

innovator คือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ (innovation) ทั้งการนำเทคโนโลยี หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) และการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่ดี มาช่วยให้การป้องกันและปราบปรามได้ผลยิ่งขึ้น

changer คือ เราต้องพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องมีการลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะหากเรามีนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ยังคงมีวิธีคิดแบบเดิมและไม่ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแล้ว ก็คงเป็นการยากที่จะปรับเปลี่ยนสถานะจากผู้ถูกยับยั้งมาเป็นผู้ยับยั้ง หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบความคิด หรือ mindset และเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน (method) เพราะหากเรามีนวัตกรรมใหม่ มีความคิดจะทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงานให้เหมาะสม ย่อมไม่สามารถรับมือกับอาชญากรรมต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและทันต่อเหตุการณ์

synergizer คือการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ เนื่องการต่อสู้กับการก่อการร้ายในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นการต่อสู้ของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาสากลที่มีผลกระทบต่อทุกประเทศ ดังนั้นความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (public-private partnership) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “PPP” และความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถตัดวงจรการก่อการร้ายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

ดร.วิษณุ กล่าวสรุปตอนท้ายว่าถึงเวลาที่พวกเราต้องเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้ถูกกระทำเป็นผู้ยับยั้ง ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาที่มีอยู่อย่างจริงจัง มีการแบ่งปันข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ นำนวัตกรรมมาใช้ เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบความคิดและวิธีปฏิบัติงาน เพื่อร่วมกันป้องกัน และแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและการฟอกเงินในภูมิภาคของเราได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามแนวคิดหลักของการประชุมในครั้งนี้ที่ว่า Regional Synergy for Regional Solutions โดยเชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากผู้ถูกกระทำไปสู่ผู้ยับยั้งการก่อการร้ายในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก