8 สัญญาณ…เตือน!!! ต้องพักรถ

ช่วงเทศกาล หรือวันหยุดยาว หลายคนวางแผนขับรถไปท่องเที่ยวหรือกลับภูมิลำเนา สิ่งที่คอยย้ำเตือนกันเสมอคือ การระมัดระวังอุบัติเหตุ เพราะในทุกๆ ปี  มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนไม่น้อย

สาเหตุของอุบัติเหตุทางการจราจร เกิดขึ้นได้โดยหลายสาเหตุ ได้แก่ ผู้ขับขี่ สภาพแวดล้อม สภาพรถ โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จากข้อมูลปี 2561 พบว่า ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 28.80

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในทุกเทศกาลปีใหม่ ปรารถนาที่จะเห็นความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด โดยรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงอุบัติเหตุและร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่อย่างมีความสุข โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข สสส. และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ทั้งยังให้ทุกคนเคร่งครัดในการปฏิบัติตามชีวิตวิถีใหม่ มีสติ ป้องกัน โดยสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างรอบคอบ

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงอุบัติเหตุว่าสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญ นอกจากการสื่อสารแล้ว สสส. ยังประสานภาคีเครือข่ายสื่อสารรณรงค์ในเรื่องกลับบ้านปลอดภัย และลดปัจจัยเสี่ยงอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยากให้เป็น 1 ในชีวิตวิถีใหม่ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 60 โรค ทั้งยังมีส่วนที่ทำให้ติดโควิด-19 ได้ง่ายและรุนแรงอีกด้วย สสส.ประสานภาคีแนวราบออกแรงทำงานอย่างหนักเพื่อหวังว่าสถิติอุบัติเหตุจะลดลงและทุกคนปลอดภัย” ดร.สุปรีดา กล่าว

นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว  สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การหลับใน หรือ อาการง่วง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยๆ แก่ผู้ขับขี่ และส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในที่สุด หากไม่หยุดจอดพัก รู้หรือไม่ว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในขณะขับรถ กรมทางหลวง 2551-2561 พบว่า การหลับใน เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 4 ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

การหลับใน คือ การหลับในขณะที่ตาอาจยังเปิดอยู่ แต่ไม่รู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่เกิน 10 วินาที โดยหากรถวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยที่ไม่มีคนควบคุม ลักษณะการชนจึงรุนแรงมาก เพราะคนขับไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรก ทำให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้ทันที

8 สัญญาณ…เตือน!!! ต้องพักรถ

1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง

2.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย

3.รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ ภาพเบลอ

4.ขับรถส่ายหรือเริ่มออกนอกเส้นทาง

5.ใจลอย ไม่มีสมาธิ

6.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาบ้างในช่วง 2-3 กม. ที่แล้ว

7.รู้สึกมึน หรือหนักศีรษะ

8.มองข้ามสัญญาณไฟ หรือป้ายจราจร

ขณะขับขี่รถ เมื่อคุณเริ่มมีอาการของสัญญาณเตือนของการง่วง ควรจะปฏิบัติดังนี้

1.อย่าฝืนขับรถ

2.จอดรถในที่ที่ปลอดภัย เพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อ

3.สลับให้ผู้อื่นขับรถแทน

4.รับประทานของขบเคี้ยว หรือดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

5.เปิดหน้าต่างรถเพื่อถ่ายเทอากาศ ให้ลมโชยปะทะหน้า เปิดเพลงดังๆ และร้องตามไปด้วย

ง่วงนัก พักสักนิด เพื่อทุกชีวิตปลอดภัย ในทุกๆ การเดินทาง เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งรถ และคน เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อีกทั้งไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึง ลดเร็ว ลดเสี่ยง เพื่อที่จะถึงจุดหมายโดยปลอดภัย ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ สสส.ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ อย่าลืมสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก คู่มือรู้ทันโรคและภัยสุขภาพสำหรับประชาชน โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

——————–