กระทรวงคมนาคมสรุปสถานการณ์การเดินทางและอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคมในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

กระทรวงคมนาคมรายงานสรุปผลการอำนวยความสะดวก ปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2564 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564 ข้อมูลสะสม 6 วัน กระทรวงฯ สามารถจัดบริการขนส่งสาธารณะได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง โดยมีผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะกว่า 8 ล้านคน ต่ำกว่าประมาณการ 40.5% มีปริมาณการจราจรเข้า – ออกกรุงเทพฯ กว่า 11.4 ล้านคัน ต่ำกว่าประมาณการ 26.24% ในขณะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงฯ จำนวน 1,465 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 399 คน บาดเจ็บ 2,359 คน สาเหตุหลักของอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

กระทรวงฯ ได้บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 อย่างมีความสุข สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ตามนโยบาย “คมนาคมใส่ใจกำลังสาม เดินทางอุ่นใจตลอดปีใหม่” ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจร วางแผนการเดินทางล่วงหน้า รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด

 

โดยสรุปข้อมูลจากช่วงเวลาดังกล่าวทั้ง 6 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2564) พบว่า มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 8,039,550 คน-เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 40.50% มีปริมาณการจราจรเข้า – ออกกรุงเทพฯ จำนวน 11,395,209 คัน ต่ำกว่าประมาณการ 26.24% ส่วนใหญ่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 10,863,785 คัน สำหรับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงฯ ในวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 3 มกราคม 2564 พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้น 1,465 ครั้ง โดยเป็นโครงข่ายทางถนน จำนวน 1,489 ครั้ง และโครงข่ายทางราง จำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 399 คน บาดเจ็บ 2,359 คน บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง 72.57% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด โดยเกิดในจังหวัดสุพรรณบุรีมากที่สุด จำนวน 64 ครั้ง สำหรับอุบัติเหตุที่มีรถจักรยานยนต์เกี่ยวข้อง จำนวน 763 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 150 คน บาดเจ็บ 847 คน โดยเกิดที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด จำนวนจังหวัดละ 30 ครั้ง และมีอุบัติเหตุบนระบบขนส่งสาธารณะและรถบรรทุก รวมจำนวน 22 ครั้ง เป็นอุบัติเหตุโดยรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 4 ครั้ง ทางรถไฟ จำนวน 6 ครั้ง และรถบรรทุก จำนวน 18 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 21 คน บาดเจ็บรวม 12 คน ทั้งนี้ ไม่มีรายงานอุบัติเหตุในบริการขนส่งสาธารณะทางเรือและเครื่องบิน

ทั้งนี้ การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ให้บริการได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด และได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี

————————