หมอห่วงช่วงอากาศหนาว ปวดเข่ากำเริบ นวดแผนไทยช่วยได้

แพทย์แผนไทยแนะนวดไทยทางเลือกในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ชูผลวิจัยขมิ้นชัน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของข้อเข่า สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันได้ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ และมีผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร

นายแพทย์ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าช่วงนี้อากาศค่อนข้างหนาวเย็น หนึ่งโรคที่มักมากับอากาศที่หนาวเย็น คือ อาการปวดข้อ โดยเฉพาะข้อเข่า ซึ่งเป็นอาการที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ทางการแพทย์แผนไทยเรียกโรคข้อเข่าเสื่อมว่า “โรคลมจับโปงเข่า” แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ  โรคลมจับโปงน้ำและจับโปงแห้ง จับโปงน้ำจะมีอาการปวดเข่า เข่าบวม อักเสบชัดเจน มีน้ำในข้อเข่า  ส่วนจับโปงแห้งจะมีอาการปวดเข่า มีเสียงกรอบแกรบในข้อเข่า ข้อเข่าฝืด สะบ้าติด แพทย์แผนไทยรักษาโรคดังกล่าวด้วยการนวดรักษาเฉพาะจุด เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนบริเวณข้อเข่า ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่า หลังจากนั้นก็ประคบสมุนไพรหรือใช้ยาพอกเข่า เป็นการเสริมประสิทธิภาพของการนวดในด้านการลดการอักเสบและลดอาการปวด

สำหรับยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ช่วยลดการอักเสบ ชะลอการเสื่อมของข้อเข่า คือ ยาขมิ้นชัน จากผลการศึกษาวิจัยพบว่า ขมิ้นชัน มีสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เหมือนกับ ยาต้านการอักเสบไดโคลฟีแนคของแผนปัจจุบัน อีกทั้งขมิ้นชันยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ก่อให้เกิดผลดี ต่อระบบทางเดินอาหาร จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมอีกด้วย

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า หากต้องการห่างไกลจากโรคข้อเข่าเสื่อม ควรหลีกเลี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การไม่ยกของหนัก หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดแรงกดต่อข้อเข่า และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานหน่อไม้ เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดอง และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพราะจะส่งผลให้ เกิดอาการปวดข้อและข้อบวมมากยิ่งขึ้น อาหารที่ช่วยบำรุงข้อและกระดูก ได้แก่ อาหารจำพวกธัญพืช เมล็ดถั่วเมล็ดงา ผักใบเขียว นม ปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแรง ของกระดูกและข้อ และควรออกกำลังกายเป็นประจำ สำหรับผู้มีน้ำหนักเกิน ควรออกกำลังกายโดยการว่ายน้ำ        การปั่นจักรยานอากาศ หรือการทำท่ากายบริหารแบบฤาษีดัดตน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับข้อเข่า  นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ

หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับการรักษาอาการปวดเข่าด้วยการแพทย์แผนไทย สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือต้องการสอบถามเกี่ยวกับการให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร 0 2149 5678

*************  3 มกราคม 2564 **********