สสช. ตั้งเป้า 1 ปีเห็น “Official statistics”

ภายใต้สภาพแวดล้อมของยุคที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล  ยุค Big Data ที่มีข้อมูลปริมาณมหาศาลเกิดขึ้นในโลก ยุคที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ยุคของการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ยุค Thailand 4.0 ไปจนถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักทางด้านข้อมูลสถิติของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องดังกล่าว

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เล็งเห็นว่า สสช. แม้จะมีจุดแข็งของความเป็นหน่วยงานกลางด้านวิชาการสถิติของประเทศมาอย่างยาวนาน  แต่ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบันทำให้จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ขนานใหญ่เพื่อให้สามารถปรับตัวรับมือและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง รวมถึงความคาดหวังจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้อง ที่จริงแล้วการที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนประเทศต้องถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของ สสช. ในการพัฒนาและปรับกระบวนทัศน์การทำงาน ซึ่งทิศทางการพัฒนาในรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกซึ่งองค์การสหประชาชาติหรือ UN เองได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จนเกิดคำว่า “Data Revolution” หรือการปฏิวัติข้อมูลขึ้น ที่ต้องการให้สำนักงานสถิติของประเทศต่างๆ หรือหน่วยงานด้านข้อมูลของทั่วโลกใช้ “Official Statistics หรือสถิติทางการ” เป็นเครื่องชี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals: SDGs ที่ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่เป็นทั้งเครื่องมือเพื่อเป็นตัวชี้วัดและติดตาม เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของข้อมูล

ดังนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เร่งตอบรับนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ข้อมูลทั้งของรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชน โดย Upgrade หรือยกระดับองค์กรให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลสถิติและสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจของประเทศ โดยตั้งเป้า “1 ปี สสช. สู่ Official Statistics” ที่จะผลิตข้อมูลสำคัญสำหรับทำตัวชี้วัดของประเทศ และผลักดันการสร้างมาตรฐานของข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติได้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาปัจจุบันที่ข้อมูลภาครัฐไม่ได้จัดทำและจัดเก็บบนมาตรฐานเดียวกัน จึงทำให้แม้แต่จะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างภาครัฐยังทำได้ยาก

Upgrade เป็น “ศูนย์ข้อมูลสถิติจังหวัด” โดยพัฒนาข้อมูลตั้งแต่ “พื้นที่” สู่ “ประเทศ” โดยหน้าที่ตาม พรบ. สถิติ กำหนดให้ สสช. ต้องทำหน้าที่ทั้งผลิต ให้บริการ และบริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังคงให้น้ำหนักของการทำงานที่เน้นด้านการผลิต ต่อจากนี้ต้องถ่ายน้ำหนักลงมาที่การให้บริการและการบริหารจัดการระบบสถิติมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ได้เข้าถึงและใช้ข้อมูล Official Statistics ผ่านเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ Life Style ไม่ว่าจะผ่านเว็บไซต์ หรือผ่าน Smart Device เช่น THAI STAT Application ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่แล้ว รวมถึงการให้บริการผ่าน API ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา โดยได้เน้นย้ำว่าต้องพัฒนาข้อมูลตั้งแต่ระดับพื้นที่ ซึ่งเดิมจัดเก็บอยู่แล้วแต่อยู่ในรูปของสมุดสถิติจังหวัด จึงให้ Upgrade เป็น “ศูนย์ข้อมูลสถิติจังหวัด” ที่จัดเก็บและให้บริการในรูปแบบที่สามารถนำไปประมวลผลต่อได้  โดยให้ใช้กลไกการพัฒนาข้อมูลในระดับพื้นที่ผ่านการทำงานแบบเครือข่ายสถิติที่ได้สร้างขึ้นใหม่ที่เรียกว่า “สถิติอำเภอ” เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคุณมาดีในการประสานงานข้อมูลในพื้นที่และผนวกรวมกับเครือข่ายเดิมคือ คณะกรรมการสถิติจังหวัดที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  โดยให้สำนักงานสถิติจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่มากขึ้น ตั้งเป้าปีหน้าแต่ละจังหวัดต้องมีอย่างน้อย 1 ฐานข้อมูลที่สมบูรณ์

Upgrade เป็น “e-Survey” ลดการส่งพนักงานสนามออกจัดเก็บข้อมูล นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสำรวจข้อมูลมากขึ้นในรูปแบบ e-Survey ผ่านเครือข่ายคุณมาดีที่สร้างไว้แล้วครบทุกหมู่บ้าน เพื่อคอยกระตุ้นและให้ความรู้เหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนในชุมชนเพื่อให้ข้อมูลผ่าน e-Survey ซึ่งเป็นการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐได้อย่างดี รวมถึงสามารถลดขั้นตอนและเวลาในการประมวลผลไปได้มาก ทำให้ผู้ใช้ได้ใช้ข้อมูลที่ทันสมัยขึ้นอีกด้วย

Upgrade การบริหารจัดการข้อมูลผ่านรหัสมาตรฐานและ Data Catalogue ด้วยประเทศไทยมีระบบสถิติแบบกระจายงาน คือหน่วยงานภาครัฐต่างก็จัดทำข้อมูลสถิติตามการใช้ประโยชน์และภารกิจของตนเอง ในขณะที่รัฐบาลต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านการบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากแต่ละหน่วยงานต่างกำหนดรหัสในการจัดทำข้อมูลที่แตกต่างกัน รหัสมาตรฐานจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาข้อมูลให้สามารถบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพราะแค่รหัสเพศชาย ก็มีตั้งแต่ “0” “1” “M” ซึ่งขณะนี้ สสช. ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไประดับหนึ่งแล้วและเตรียมรอเสนอ ครม. เพื่อประกาศใช้ต่อไป ส่วน Data Catalogue หรือ Data Directory จะเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมรายการข้อมูลสถิติที่สำคัญและบ่งชี้ว่าอยู่ในการดูแลของหน่วยงานใด เพราะปัจจุบันข้อมูลต่างก็กระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ
ซึ่งหากสำเร็จแล้วจะช่วยให้ผู้ใช้รู้สึกว่าข้อมูลไม่ได้หายากอีกต่อไป

Unlock “ข้อมูลภาครัฐ” เพื่อขับเคลื่อนการบูรณาการ ด้วยอำนาจหน้าที่ของ สสช. ที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐเกี่ยวกับสถิติตามหลักวิชาการ ต้องประสานกับหน่วยงานในการสร้างเครือข่ายสถิติเพื่อให้ได้ฐานข้อมูลสถิติที่สำคัญและเป็นปัจจุบันของประเทศ ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในด้านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น Big Data หรือการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ฐานข้อมูลสถิติที่สำคัญและเป็นปัจจุบันของประเทศ” จำเป็นต้องปลดล็อคโดยแก้ไขกฎหมายเพื่อให้แต่ละหน่วยงานยินยอมส่งข้อมูลตามที่ สสช. ร้องขอ  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมเสนอให้แก้ไข พรบ.สถิติ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานร่วมมือในการส่งข้อมูลและบูรณาการที่ใช้งานได้จริง

นอกจากนี้ สสช. ยังมีโครงการอื่นที่สำคัญ เช่น การใช้ Big data เพื่อพัฒนาข้อมูล Official Statistics
การพัฒนาการให้บริการแบบ SMART Services การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศสถิติ (NSO-GIS) โครงการระบบการจัดเก็บข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานระดับพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำทั่วประเทศ และโครงการสำมะโนประชากรและเคหะที่จะถึงในปี 2563 นี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะต้องเร่งผลักดันเพื่อ Upgrade หรือหาวิธีการใหม่ๆ ภายใต้ยุคดิจิทัลนี้เพื่อผลักดันสู่การปฏิวัติข้อมูลภาครัฐต่อไป

*********************************