การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ๘/๒๕๖๓

วันจันทร์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา นาคาศัย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๘/๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม ๑๐๙ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร

โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ การรับรองรางวัลองค์กร/ผู้สนับสนุนดีเด่น งานสมัชชาเครือข่าย เพื่อสื่อสาธารณะระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๓ การรายงานปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ และรายงานผล การประชุมหารือเกี่ยวกับความปลอดภัยและมาตรการการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นที่ใช้ก๊าซและเครื่องทำน้ำร้อนที่ใช้ก๊าซ นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ (ก่อสร้าง และคอนโดมิเนียม) และธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป (ธุรกิจเนอสซิ่งโฮม อู่ซ่อมรถยนต์) ดังนี้

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้พิจารณาและมีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ

ด้านอสังหาริมทรัพย์

๑. กรณีไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บังคับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตาม กฎหมาย

๒. กรณีไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ตามระยะเวลาที่กำหนด บังคับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๓. กรณีไม่ดำเนินการจัดให้มีสนามเด็กเล่น คลับเฮ้าส์ ฟิตเนส และระบบแจ้งเตือน   (Nurse Call) ตามที่โฆษณา บังคับชดใช้ค่าเสียหาย

๔. กรณีก่อสร้างห้องชุดไม่แล้วเสร็จตามสัญญา บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๕. กรณีระบบสาธารณูปโภคไม่เรียบร้อย บังคับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
ตามกฎหมาย

๖. กรณีบริษัทส่งมอบขนาดห้องชุดไม่ครบถ้วนตามสัญญา บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ตามกฎหมาย

๗. กรณีบริษัทไม่สามารถส่งมอบห้องชุดได้ตามสัญญา บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย
ตามกฎหมาย

ด้านสินค้าและบริการ

๑. กรณีซื้อรายการนำเที่ยว แต่เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(COVID 19) จึงขอยกเลิกรายการนำเที่ยว และขอมัดจำคืนทั้งหมด ซึ่งบริษัทตกลง
คืนเงินให้ แต่ปัจจุบันผู้ร้องยังไม่ได้รับเงินคืน บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๒. กรณีซื้อแพ็กเกจโยคะ ประเภทไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด เมื่อจะเข้าใช้บริการ
บริษัทฯ ปิดกิจการ บังคับคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๓. กรณีซื้อคอร์สเสริมความงาม ต่อมาบริษัทฯ ปิดกิจการ บังคับคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๔. ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม
พ.ศ. ๒๕๔๙ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความสียหาย บังคับชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๕. กรณีว่าจ้างเนอสซิ่งโฮม แม่บ้านไม่สามารถมาปฏิบัติงานได้ บริษัทไม่ส่งพนักงาน
มาทดแทน บังคับคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๖. กรณีเข้ารับบริการอู่ซ่อมรถยนต์ แต่ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด บังคับ
คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

——————–