สวธ.เตรียมความพร้อมสรรหาคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมชุดใหม่ เดินหน้าขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมจากระดับท้องถิ่นถึงระดับประเทศ

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมให้ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดและเครือข่ายวัฒนธรรม ในการประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงและระดมความคิดสภาวัฒนธรรมทั่วประเทศ  เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ โรงแรมดิอิมพิเรียล จังหวัดพิษณุโลก ว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม เป็นองค์กรหลักในการส่งเสริมงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางสังคมของประเทศ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้ความสำคัญในเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกระดับ เพราะประชาชนในพื้นที่ถือเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมระดับต่างๆ เป็นองค์กรทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ ผลักดันให้เกิดการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

อธิบดีสวธ. กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา หรือ โควิด-19 การดำเนินงานด้านวัฒนธรรมในระดับต่างๆ จึงต้องทบทวนและคิดรูปแบบการทำงานใหม่ที่ไม่เน้นทำงานในรูปแบบเดิม ให้สามารถผลักดันงานวัฒนธรรมให้เกิดความเข้มแข็งภายใต้ข้อจำกัดด้านต่างๆ โดยมุ่งหวังให้สภาวัฒนธรรม เป็นองค์กรหลักของท้องถิ่นในการขับเคลื่อนงานด้วยการบูรณาการกับหน่วยงานในพื้นที่ อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนต่างๆ หน่วยงานในพื้นที่ ร่วมกันส่งเสริม สืบสานและต่อยอดให้แผนงานของสภาวัฒนธรรม สู่แผนยุทธศาสตร์งานวัฒนธรรมของชาติ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มีเป้าหมายให้สภาวัฒนธรรมดำเนินการขับเคลื่อนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ใน ๒ ด้านใหญ่ คือ ด้านอาหารหรือโภชนาการ  และด้านอาภรณ์หรือผ้าไทย โดยเฉพาะด้านผ้าไทย ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสำคัญในการยกระดับผ้าไทยให้ได้รับความนิยมในเวทีระดับโลก ได้ทรงพระราชทานคำแนะนำในการจัดทำหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย ปี คศ. 2020-2023 เพื่อพัฒนาและชี้นำทิศทางแนวโน้มการออกแบบผ้าไทยสู่สากล เป็น Trend Book ทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาสร้างกระแสความนิยมต่อผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายในเวทีระดับนานาชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกในยุคสมัยใหม่  โดยให้สภาวัฒนธรรมดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลและระดมความคิดเห็นเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนการส่งเสริมและรักษา รวมไปถึงการต่อยอดและสร้างสรรค์ให้เกิดการนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นำมิติทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สังคมชุมชนได้อยู่เย็นเป็นสุขเกิดความยั่งยืน สืบไป

อธิบดี สวธ. กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้เครือข่ายทางวัฒนธรรม ก่อนเริ่มกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๖๔  โดยในการเลือกตั้งสภาวัฒนธรรม นี้ ประกอบด้วย ๔ ระดับ ได้แก่ ๑.สภาวัฒนธรรมตำบล/แขวง/เทศบาลองค์กรปกครองท้องถิ่นและสภาวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ  ๒.สภาวัฒนธรรมอำเภอ/เขต  ๓.สภาวัฒนธรรมจังหวัด/กทม.  และ ๔.สภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะใช้การเลือกตั้งในรูปแบบใหม่โดยกำหนดให้สภาวัฒนธรรมดำเนินการเอง เพื่อให้เกิดความจากความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง และเกิดการบูรณาการร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับท้องถิ่นได้

อธิบดี สวธ. ยังกล่าวอีกว่า ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดให้สภาวัฒนธรรมมีหน้าที่สำคัญ คือ ๑.เสนอข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนแม่บทวัฒนธรรมของชาติ  ๒.เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และแนวคิดในการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย  ๓.ระดมทรัพยากร บุคลากร และสรรพกำลังต่าง ๆ จากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ เพื่อการดำเนินงานวัฒนธรรม  ๔.ส่งเสริม สนับสนุนและร่วมจัดกิจกรรมขององค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา สร้างสรรค์ แลกเปลี่ยน สืบทอดและเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม  ๕.เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและผลการดำเนินงานขององค์กรภาคีและเครือข่ายวัฒนธรรม และ ๖.ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการ กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดหรือหน่วยงานอื่น ๆ ขอความร่วมมือทางวัฒนธรรม

อนึ่ง เพื่อให้การดำเนินการให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมชุดใหม่ ดำรงตำแหน่งแทนคณะกรรมการฯ ชุดเก่าที่ครบวาระ ๓ ปี ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้  อีกทั้ง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการดำเนินงานวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมระดับต่างๆ  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้กำหนดการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้สมาชิกสภาวัฒนธรรมและผู้แทนองค์กรเครือข่ายวัฒนธรรม ที่ได้ยื่นจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมในแต่ละระดับทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมปรึกษาหารือและคัดเลือกกันเองให้ได้จำนวนและสัดส่วนกรรมการตามที่ได้มีมติร่วมกัน ภายในกรอบระยะเวลา ดังนี้  (๑) สภาวัฒนธรรมตำบล สภาวัฒนธรรมเทศบาล สภาวัฒนธรรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และสภาวัฒนธรรมแขวง ระหว่างวันที่ ๑ – ๓๐ มกราคม ๒๕๖๔   (๒) สภาวัฒนธรรมอำเภอ และสภาวัฒนธรรมเขต ระหว่าง ๑๕ กุมภาพันธ์ – ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔  (๓) สภาวัฒนธรรมจังหวัด และสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ระหว่าง ๑ – ๓๐ เมษายน ๒๕๖๔ และ (๔) สภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายในเดือนมิถุนายน ๒๕๖๔ นี้

—————–