ดย. ชวนเด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ “เรียนรู้ 7 Q ผ่านระบบ E-LEARNING”

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยการจัดทำระบบ “E-LEARNING 7Q” หลักสูตรการเสริมสร้างทักษะเด็กและเยาวชน ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ภายใต้หลักการ “เสริม สร้าง ซ่อมสังคม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสภาเด็กและเยาวชน และเครือข่ายเด็กและเยาวชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนทั่วประเทศให้มีความพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 เป็นแกนนำจิตอาสาเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชน และสังคม รวมทั้งสามารถนำแนวทางการพัฒนาเด็กและเยาวชนไปขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่น ๆ

นางสุภัชชา  กล่าวต่อว่า การพัฒนาทักษะเด็กและเยาวชน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1) ทักษะการเรียนรู้ และนวัตกรรม 2) ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี 3) ทักษะด้านชีวิตและ การทำงาน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จัดทำเนื้อหาสำหรับเรียนรู้หลักสูตร “E-LEARNING 7Q” ประกอบด้วย

บทนำ รายละเอียดหลักสูตร 7Q เพื่อให้เด็กและเยาวชนรู้ที่มาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

บทที่ 1 IQ (Intelligence Quotient) ความสามารถทางด้านเชาว์ปัญญา เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ และการใช้เหตุผล

บทที่ 2 EQ (Emotional Quotient) ความสามารถทางด้านอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส และ มองโลกในแง่ดี

บทที่ 3 MQ (Moral Quotient) ความสามารถในการคิดทางด้านศีลธรรม คือ มีความประพฤติดี รู้จักผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม

บทที่ 4 SQ (Social Quotient) ความฉลาดในการเข้าสังคม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะมนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ไม่คิดว่าตนเองเหนือกว่าใคร ต้องมีใจเปิดกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อีกทั้งต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน

บทที่ 5 CQ (Creativity Quotient) ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเล่น งานศิลปะ และการประดิษฐ์สิ่งของ

บทที่ 6 PQ (Play Quotient) ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเล่นพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม

บทที่ 7 AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา คือ มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี และพยายาม เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อง่ายๆ

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนเด็กและเยาวชน ร่วมเรียนรู้ “ทักษะ 7Q สำหรับเด็กและเยาวชนที่ต้องมี” ผ่านระบบ E-Learning สามารถกดเข้าไปเรียนรู้ที่ลิงค์ http://dcy.go.th/webnew/main/service.php?id=25 นางสุภัชชา กล่าวทิ้งท้าย

…………………………………………………………….