วันที่ 21 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 3 ชั้น 11 อาคาร 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ กทม. นางเทพวัลย์ ภรณวลัย รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานด้านครอบครัวทดแทน ให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและครอบครัวอุปถัมภ์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง พม. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้ความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติงานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและครอบครัวอุปถัมภ์
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดย ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มีภารกิจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการเด็กโดยการจัดหาครอบครัวทดแทนและครอบครัวอุปถัมภ์ให้แก่เด็กกำพร้า เด็กถูกทอดทิ้งในความอุปการะของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เด็กที่มีบิดามารดาที่แท้จริงยินยอมยกให้ เนื่องจากบิดามารดาไม่สามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ และเด็กที่มีคำสั่งศาลแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดาเด็ก โดยดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระเบียบและอนุสัญญาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เด็กได้มีโอกาสเติบโตอย่างเหมาะสมในสภาพครอบครัวที่แท้จริง ซึ่งต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อหาครอบครัวที่เหมาะสมในการทำหน้าที่บิดามารดาให้แก่เด็ก และเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพและประโยชน์สูงสุดของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ ในส่วนภูมิภาคมีการดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ซึ่งในปัจจุบันได้มีการโยกย้าย สับเปลี่ยนผู้ปฏิบัติงานในหลายหน่วยงาน จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจถึงวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดย ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จึงได้จัดทำโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนแนวทางการปฏิบัติงานด้านครอบครัวทดแทน ตามพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2533 และ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 และระเบียบว่าด้วยการสงเคราะห์เด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์ พ.ศ. 2544 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและครอบครัวอุปถัมภ์ในหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้ทบทวนการปฏิบัติงานตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานใหม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านบุตรบุญธรรมและด้านครอบครัวอุปถัมภ์ และเพื่อให้การปฏิบัติงานด้านบุตรบุญธรรมและด้านครอบครัวอุปถัมภ์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การปฏิบัติงานด้านการจัดหาครอบครัวทดแทน ประกอบด้วยงานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และงานด้านการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ต้องดำเนินการร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยด้านสังคมและกฎหมาย โดยเฉพาะการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งถือเป็นการจัดหาครอบครัวทดแทนถาวรให้กับเด็ก การดำเนินงานมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายภายในประเทศ และกฎหมาย ระหว่างประเทศ ผู้ปฏิบัติงานต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้เกิดความชัดเจน เพื่อจะได้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กและครอบครัว
สำหรับการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นการดูแลเด็กทางเลือกหรือการดูแลทดแทน ชั่วคราวสำหรับเด็กกาพร้าที่ไม่สามารถอาศัยอยู่กับบิดามารดาของตนได้ การจัดให้เด็กได้รับการดูแลในลักษณะนี้ เป็นการคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมในลักษณะครอบครัวที่แท้จริง เด็กจะได้เติบโตในบรรยากาศของครอบครัว ได้รับความรัก ความอบอุ่น มีพัฒนาการที่เหมาะสม ตามวัยและได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือที่จำเป็น อันจะส่งผลให้เด็กเติบโตเป็นประชากร ที่มีคุณภาพ สามารถมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมได้อย่างเต็มที่ในอนาคต นอกจากนี้ งานด้านการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมและการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ เป็นลักษณะงานให้บริการประชาชน ทั้งผู้มาติดต่อขอรับบริการจากสำนักงานพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และหน่วยงานในสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน การให้บริการด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว โปร่งใส มุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาล ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
…………………………..