กรม สบส. เผยนวัตกรรมต้นแบบชุดป้องกันการติดเชื้อทางอากาศสำหรับเตียงผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คิดค้นนวัตกรรมต้นแบบชุดป้องกันการติดเชื้อทางอากาศสำหรับเตียงผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยง ลดการแพร่กระจายเชื้อจากการติดเชื้อทางอากาศของผู้ป่วยในโรงพยาบาล สร้างความเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ประภาส  จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมาก อาจมีการแพร่เชื้อทางอากาศ ซึ่งจากปัญหาของอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่นละอองต่างๆ ที่ปนเปื้อนกระจายอยู่ในอากาศอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างปัญหาให้กับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือภูมิแพ้ต่างๆ รวมทั้งผู้ป่วยที่ต้องป้องกันการติดเชื้อของบาดแผล เช่น น้ำร้อนลวก หรือไฟไหม้ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางอากาศ ซึ่งผู้ป่วยดังกล่าวต้องการสภาวะแวดล้อมในการรักษาที่สะอาดเป็นพิเศษในโรงพยาบาล การป้องกันลดการติดเชื้อทางอากาศในโรงพยาบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ

นายปริญญา คุ้มตระกูล ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นความสำคัญของการควบคุมอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ จึงได้จัดทำนวัตกรรม “ต้นแบบชุดควบคุมป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ” โดยออกแบบติดตั้งพัดลมกรองอากาศดูดอากาศผ่านแผ่นกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA filter) ซึ่งกรองอนุภาคในอากาศ และติดหลอด UV ฆ่าเชื้อเพื่อช่วยให้มั่นใจว่าสามารถขจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่กับอนุภาคในอากาศได้ นวัตกรรมฯ นี้อากาศที่สะอาดปราศจากเชื้อโรค ช่วยลดปริมาณอนุภาคในอากาศ ทำให้ความเสี่ยงการติดเชื้อทางอากาศในโรงพยาบาลลดลง โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้นำต้นแบบชุดป้องกันการติดเชื้อทางอากาศสำหรับเตียงผู้ป่วย ไปทดสอบใช้กับโรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก โรงพยาบาลคลองใหญ่ จังหวัดตราด โรงพยาบาลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลบ้านฉาง จังหวัดระยอง และสถาบันบำราศนราดูร ผลการทดสอบต้นแบบชุดป้องกันการติดเชื้อทางอากาศสำหรับเตียงผู้ป่วยมีประสิทธิภาพดีสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งประโยชน์ของต้นแบบชุดป้องกันฯ คือ 1) ลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อทางอากาศของผู้ป่วยในสถานพยาบาล 2) ลดการแพร่กระจายเชื้อทางอากาศในสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) ลดปริมาณอนุภาคในอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อ 4) สร้างเสริมความเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมและป้องกันโรค 5) ใช้ในงานคัดกรองผู้ป่วยโรคติดต่อทางเดินหายใจที่มารับบริการ 6) เป็นต้นแบบให้สถานพยาบาล นำไปพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการควบคุมและป้องกันโรคทางอากาศ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลภาครัฐ และภาคเอกชน สามารถสอบถามรายละเอียดต้นแบบชุดป้องกันการติดเชื้อทางอากาศสำหรับเตียงผู้ป่วยได้ที่คุณมนัส รัตนสุวรรณ์ E-mail : nus_2506@hotmail.com และ        คุณอานุภาพ ละออ E-mail : anuphappee@gmail.com งานส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครือข่ายด้านวิศวกรรมกลุ่มส่งเสริมมาตรฐานวิศวกรรม กองวิศวกรรมการแพทย์ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 149 5680 ต่อ 1389 ในวันและเวลาราชการ         ***********