พม. ร่วมกับสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพนานาชาติ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพนานาชาติ “BPW International Asia-Pacific Regional Conference 2018” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมสตรีนักธุรกิจและสตรีนักวิชาชีพทั่วโลก ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเป็นผู้นำของสตรีในทุกระดับ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสความเท่าเทียมของสตรีทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และสอดคล้องกับงานด้านการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของสตรี ตามภารกิจของ พม. ในการจัดงานดังกล่าว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานเปิดงานเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 61 พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานปาฐกถาในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 61 และในวันที่ 1 พ.ย. 61 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จฯ เป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ โดยมี คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ประกอบด้วย พลเอก ณัฐติพล กนกโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ที่ปรึกษา รมว.พม.) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดี สค. นางพัชรี อาระยะกุล รองอธิบดี สค. และสตรีนักธุรกิจ และเจ้าของธุรกิจของประเทศไทยและต่างประเทศ รวม 29 ประเทศ นำโดย คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ Dr. Amany Asfour ประเทศอียิปต์ ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล (BPW International) รวมจำนวน 500 คน ร่วมเฝ้ารับเสด็จ

สำหรับวันที่ 1 พ.ย.61 เวลา 10.00 น. พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ“Empowering Women to Realize Sustainable Developments Goals” (การเสริมศักยภาพสตรีเพื่อสานพลังให้ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

พลเอก อนันตพร กล่าวว่า ประเทศไทยนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้กำหนดทิศทางพัฒนาประเทศ และเป็นฐานคิดสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ระหว่างปี 2560 – 2564) ควบคู่กับการยึดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “คนเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนา” รวมทั้งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำกันทางสังคม อันจะเป็นโอกาสให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ด้วยตระหนักดีว่าการเสริมศักยภาพสตรีถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals : SDGs) ตามมติการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ และรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 5 คือ บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน นอกจากนั้น ด้วยโครงสร้างประชากรของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีสตรีจำนวนมากกว่าบุรุษ อีกทั้งมีแนวโน้มอายุยืนยาวกว่าบุรุษ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพสตรีซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการพัฒนาประเทศต่อไป โดยรัฐบาลไทยมีการดำเนินการที่สำคัญเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองทุกคนจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ การส่งเสริมให้มีกลไกส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในระบบราชการ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสถานภาพและบทบาทของสตรี โดยได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย (CGEO) และมีศูนย์ประสานงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย (GFP) ในหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สถานการณ์ นโยบาย หรือปัญหาต่าง ๆ อย่างมีมุมมองมิติหญิงชาย และติดตามการบรรลุเป้าหมายการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในด้านต่าง ๆ โดยมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุถึงการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ หรือที่เรียกว่า Gender Responsive Budgeting : GRB การดำเนินโครงการประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตั้งแต่จากระดับท้องถิ่นมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส สร้างอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยประชาชน/ชุมชนเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน และมีภาครัฐ ภาคเอกชนให้การสนับสนุนการดำเนินงาน และการสนับสนุนให้สตรีพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โครงการ Start up ซึ่งเป็นการจุดประกายผู้ประกอบการและเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการสตรีได้มีโอกาสเริ่มธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างอาชีพใหม่ให้กับสตรี การส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีของประเทศไทย การพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของสตรี การสร้างวินัยทางการเงินให้กับกลุ่มสตรี โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการ OTOP เป็นต้น

พลเอก อนันตพร กล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ “สตรีในทุกมิติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทและสถานภาพของสตรี รวมถึงความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อให้สตรีได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกบริบทของสังคม ตามที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศรวมทั้งการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งประเทศไทยร่วมรับรองไว้ หลายภารกิจประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรง  ในครอบครัวระดับตำบล (ศปก.ต.) ในพื้นที่ 21 จังหวัด รวม 42 แห่ง การจัดทำโครงการโรงเรียนครอบครัวเพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ในพื้นที่ 22 จังหวัด รวม 91 แห่ง รวมทั้งการเปิดคลินิกพหุวัฒนธรรม หรือ คลินิกสะใภ้ไทย-เขยฝรั่ง เพื่อให้คำปรึกษาแก่สตรีที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสถิติของผู้หญิงที่สมรสกับชาวต่างชาติค่อนข้างสูง และถือเป็นต้นแบบในการให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ กับหญิงไทย ที่มีสามีเป็นชาวต่างชาติ ขณะที่บางภารกิจอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น ประเทศไทยได้สร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของสตรี เครือข่าย องค์กรสตรีและทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการที่แท้จริงจากทุกกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบของการประชุมสมัชชาสตรีระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับชาติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะการดำเนินงานด้านสตรีในทุกระดับ เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยอันนำไปสู่การวางแผนกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตรีตลอดจนการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในประเทศไทยที่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้มีการส่งเสริมสตรีทางเศรษฐกิจ โดยได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อช่วยให้สตรีสามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยสตรีชนบทได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้เป็นลำดับแรก การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับสตรีกลุ่มด้อยโอกาสและประสบปัญหาทางสังคมในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง

“การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับภูมิภาค BPW International Asia Pacific Regional Conference 2018 ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสตรีที่มีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพสูงและได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำทางธุรกิจภายในประเทศของตนเองและในระดับสากล ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมร่วมกัน เพราะการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จได้เพียงลำพังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อยกระดับสตรี เพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และเสริมพลัง สร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน” พลเอก อนันตพร กล่าวในตอนท้าย

————————–