พด. เปิดโครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟ ในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2563 นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินพะเยา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 7 ให้การต้อนรับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดโครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟ ในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ ณ บ้านตุ้มเหนือ ตำบลท่าจำปี อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา

ร้อยเอก ธรรมนัส เปิดเผยว่า “กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกษตรกรลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การเกิดไฟป่าและการเผาวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าหากสามารถทราบถึงจุดพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อการเผาเศษพืชเศษวัสดุทางการเกษตรจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถที่จะทำการรณรงค์ ส่งเสริม ลด ละ เลิก การเผา และแนะนำการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรให้เข้าถึงเกษตรกรได้อย่างถูกต้องตรงกับพื้นที่เป้าหมาย”

ทั้งนี้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ควรให้ความร่วมมือหยุดเผาตอซังพืช เศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ถ้าไม่เผาเลยจะช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างดี ไม่เป็นการทำลายโครงสร้างของดิน ให้ใช้วิธีไถกลบลงในดินแทนเพื่อเป็นปุ๋ยบำรุงคุณภาพดินให้ดี ซึ่งการไถกลบตอซังข้าว ข้าวโพด ซังอ้อย และตอซังพืชต่างๆ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะเป็นเพิ่มธาตุอาหารลงดิน ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแตสเซียม (K) คิดเป็น มูลค่า 900 บาท/ไร่ จะทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ และขอความร่วมมือจากประชาชนให้เลิกพฤติกรรมการเผาเศษไม้ ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืชในพื้นที่โล่งเตียน และไม่จุดไฟเผาป่า พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเกษตรกรในการทำปุ๋ยหมักคุณภาพสูง สูตรพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรนำใช้ในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่ ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะบริหารจัดการเศษวัสดุตามหลักวิชาการในพื้นที่ของตนเอง และให้ปรับเปลี่ยนความคิดตลอดจนวิธีการทำเกษตรกรรมจากเดิมที่เป็นการเผาทำลายทิ้ง ให้เป็นการใช้วิธีไถกลบแทน โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นการทำเองใช้เองเพื่อช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีคุณภาพที่ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) มิให้เพิ่มขึ้นและช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ที่ทำให้เกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพน้อยลง ที่สำคัญยังช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำเพื่อความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี

ปัญหาหมอกและควันจากการเกิดไฟป่าและการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน รวมทั้งยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศเป็นอย่างมากดังที่เคยเกิดขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะเกิดเป็นปัญหาซ้ำซาก ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติในระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม ปี 2563 มีพื้นที่เผาไหม้ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งสิ้น 9,483 จุด มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน หรือ PM 10 ในอากาศเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ซึ่งเกิดจากการเผาเศษวัสดุในพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมแปลงปลูกพืชในฤดูถัดไป การเผาและบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืช โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อีกเหตุผลของการที่เกษตรกรเลือกใช้วิธีการจำกัดเศษวัสดุโดยวิธีการเผา

เนื่องจากเกษตรกรไม่มีเงินทุนเพิ่มเพื่อกำจัดเศษวัสดุในวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเผาเศษวัสดุเป็นการสร้างก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศของโลก สร้างมลพิษทางอากาศนำไปสู่ภาวะโลกร้อน พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม สูญเสียอินทรีย์วัตถุธาตุอาหารในดิน ทำลายโครงสร้างดินที่เหมาะสม ทำลายห่วงโซ่อาหาร และการไถเตรียมพื้นที่ปลูกด้วยรถแทรกเตอร์นั้นมีค่าใช่จ่ายสูงกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินพะเยา ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำ “โครงการส่งเสริมการไถกลบและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือ” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ธันวาคม 2563 – กรกฎาคม 2564 เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่จะเกิดขึ้น โดยการส่งเสริมการไถกลบเศษวัสดุแก่เกษตรกร ถ่ายทอดองค์ความรู้การไม่เผาในพื้นที่ พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนลดการเผาเศษใบไม้ เศษหญ้า วัชพืช ไม่จุดไฟเผาป่า สร้างแรงจูงใจในการทำปุ๋ยหมักสูตรพระราชทานให้เกษตรกรไว้ใช้เอง โดยการนำเศษวัสดุจากพื้นที่การเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น มาผลิตปุ๋ยหมักซึ่งจะลดปัญหาการเผาเศษวัสดุได้ทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหล่านั้นและเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินด้วย โดยในปีงบประมาณ 2564 สถานีพัฒนาที่ดินพะเยาดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอ พื้นที่ 6,660 ไร่ และผลิตปุ๋ยหมัก 385 ตัน ซึ่งจะเป็นพื้นที่นำร่อง และตำบลต้นแบบที่จะแสดงให้เห็นถึงผลของมาตรการในการไถกลบเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดและแก้ปัญหาหมอกควัน และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดิน รักษาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง การดำเนินงานโครงการไถกลบ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่เกษตรจังหวัดพระเยา ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการไถกลบ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์” นางสาวภัทราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

——————-