กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจง “กะเหรี่ยงบางกลอย ยื่น 3 ข้อ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ให้แก้ปัญหาก่อนขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน”

วันที่ 17 ธันวาคม 63 จากกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว กรณีกลุ่มชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 23 คน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นดังกล่าวว่า

กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิม-พระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประเทศไทยได้ส่งเอกสารเสนอศูนย์มรดกโลกเพื่อขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจาน รวมพื้นที่ประมาณ 4,089 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2557 ภายใต้หลักเกณฑ์ ข้อ 10 การเป็นถิ่นอาศัยของชนิดพันธุ์สำคัญที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามเสี่ยงสูญพันธ์ ต่อมา คณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติให้ส่งกลับเอกสาร (referral) จำนวน 3 ครั้ง ในปี 2558, 2559 และ 2562 เพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า ปรับปรุงขอบเขตพื้นที่ตามข้อตกลงไทย-เมียนมา และการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยคณะกรรมการมรดกโลกมีกำหนดจะพิจารณาการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกอีกครั้ง  ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ซึ่งกำหนดจะจัดในช่วงเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 ณ ประเทศจีน (ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวันประชุม)

กรณีกลุ่มชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 23 คน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการมรดกโลก ผ่านสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกโลก (UNESCO) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาชุมชน ก่อนเดินหน้ายื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นผืนป่ามรดกโลก โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็น ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น ดังนี้

  1. 1. ขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านเสร็จสิ้นก่อน เพราะปัจจุบันการแก้ไขปัญหายังแทบไม่มีความคืบหน้าใด

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านบางกลอยเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562    กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์ตาม

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เสร็จแล้ว โดยได้ส่งมอบแผนที่แสดงการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่อนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ราษฎรบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 ประกอบด้วย

1) บ้านบางกลอย มีราษฎรมาแจ้งและร่วมสำรวจการครอบครอง จำนวน 99 ราย ทำการสำรวจ ได้จำนวน 143 แปลง เนื้อที่ประมาณ 627 – 3 – 93 ไร่

2) บ้านโป่งลึก มีราษฎรมาแจ้งและร่วมสำรวจการครอบครอง จำนวน 122 ราย ทำการสำรวจ ได้จำนวน 160 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 1,320 – 0 – 93 ไร่

ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่างการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยการจัดทำโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิในที่ดินนั้น เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ต่อไป

  1. 2. ชาวบ้านบางกลอย ขอกลับไปทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุ กรณีราษฎรจะอาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาตินั้น จะต้องอยู่ภายในขอบเขตที่ดินของตนเองที่ผ่านการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอนุรักษ์และอยู่ในหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2564

  1. 3. ชาวบ้านบางกลอยบางส่วน ต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านที่เคยขึ้นทะเบียนไว้กับ มท. เพื่อกลับไปใช้ชีวิตดังเดิม

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่สามารถอนุญาตในกรณีดังกล่าวได้ เนื่องจากขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และหากไม่มีการป้องกันและปล่อยให้พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำต้นแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี ตลอดจนทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าต่อไป อนึ่ง สำหรับพื้นที่ที่ราษฎรบ้านบางกลอยอาศัยอยู่ในปัจจุบัน ได้มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริบ้านโป่งลึก – บางกลอย ในด้านต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน การส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การส่งเสริมการสาธารณสุข การส่งเสริมอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ วิถีชีวิต ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นต้น

—————————