เฝ้าระวังหนอนเจาะสมอฝ้ายในทานตะวัน

ช่วงเช้าอากาศเย็นมีความชื้นสูง และในเวลากลางวันอากาศร้อนระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทานตะวันเฝ้าระวังการระบาดของหนอนเจาะสมอฝ้าย โดยจะพบการเข้าทำลายของตัวหนอนในระยะที่ต้นทานตะวันดอกเริ่มบาน โดยจะพบหนอนเจาะสมอฝ้ายฝังตัวกัดกินเมล็ดที่กำลังพัฒนาอยู่บริเวณส่วนกลางของจานดอก กรณีที่มีการระบาดรุนแรง จะทำให้ผลผลิตลดลง เนื่องจากตัวหนอนจะกัดกินกลีบดอกและกลีบเลี้ยง ทำให้ดอกไม่สามารถดึงดูดแมลงในการผสมเกสรได้ การติดเมล็ดไม่ดี มีเมล็ดลีบจำนวนมาก และจะให้ผลผลิตต่ำ

แนวทางการป้องกันและกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายในต้นทานตะวัน เกษตรกรควรหมั่นกำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของหนอนเจาะสมอฝ้ายบริเวณโดยรอบแปลงปลูกต้นทานตะวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดแหล่งอาศัยของหนอนเจาะสมอฝ้าย หากพบการเข้าทำลายของหนอนเจาะสมอฝ้าย ให้เกษตรกรเก็บตัวหนอนที่มีขนาดใหญ่มาทำลาย เนื่องจากตัวหนอนที่มีขนาดใหญ่จะใช้สารเคมีในการกำจัดไม่ได้ผล กรณีที่มีการระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงอิมาเม็กตินเบนโซเอต 1.92% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอร์ฟลูอาซูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทอกซีฟีโนไซด์ 24% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

…………………………….

อังคณา  ว่องประสพสุข : ข่าว

กรมวิชาการเกษตร

ธันวาคม 2563