กปน. เดินหน้าเตรียมการพร้อมรับภัยแล้ง 2564

นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า กปน. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำต้นทุนในเขื่อนหลักอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พบว่า สถานการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยปี 2564 ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักปีนี้น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก และนนทบุรีบางส่วน จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะรับน้ำจากเขื่อนแม่กลองมาผลิตน้ำประปา ส่วนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก นนทบุรี และสมุทรปราการ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาจนถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยามาผลิตเป็นน้ำประปา ทำให้รสชาติของน้ำประปาอาจเปลี่ยนแปลงในบางวันและบางเวลา แต่น้ำประปายังคงความสะอาดปลอดภัยเช่นเดิม

ทั้งนี้ กปน. ได้เปิดศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งในปีหน้า โดยมีแผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและแผนการสร้างเสถียรภาพในระยะยาว มาตรการช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายกวี กล่าวเพิ่มเติมว่า กปน. ขอยืนยันว่า ในปี 2564 นี้ ทุกพื้นที่ให้บริการของ กปน. ทั้งกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ จะไม่ประสบปัญหาน้ำประปาขาดแคลน เพียงแต่พื้นที่ฝั่งตะวันออกอาจได้รับผลกระทบจากรสชาติน้ำประปาที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างในบางวันและบางช่วงเวลาแต่น้ำประปายังคงสะอาดปลอดภัย ทั้งนี้ กปน. จะบริหารจัดการน้ำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และจะมีการแจ้งข้อมูลให้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

และแม้ว่าในขณะนี้ปริมาณและคุณภาพในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในภาวะปกติ แต่ กปน. ขอความร่วมมือประชาชนในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ขอให้ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ หันมาใช้อุปกรณ์ประปาที่ได้รับรองฉลากประหยัดน้ำ และตรวจสอบอุปกรณ์ ประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ นอกจากนี้ หากประชาชนพบท่อประปาในพื้นที่สาธารณะแตกรั่ว โปรดแจ้ง กปน. ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ MWA call center 1125 ตลอด 24 ชั่วโมง / แอปพลิเคชัน MWA onMobile / Line@ ในชื่อ @MWA Thailand และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้ง ด้วยการมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน

…………………………………………..