สพฉ ชี้ควรให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉิน แม้ไม่ทราบว่ามีผู้ป่วยอยู่ภายในหรือไม่

นพ.สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)​และโฆษก สพฉ. ได้กล่าวในวันนี้ว่า กรณีที่มีคลิปแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับรถยนต์สีแดงคันหนึ่งที่ไม่ยอมให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉิน และได้มีการตอบโต้กันทางเฟชบุ้ค ว่าเหมาะสมหรือไม่ทั้งๆที่เป็นบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินและกู้ชีพนั้น เบื้องต้นได้รับทราบข้อมูลว่าบุคลากรดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์ดังกล่าว และผู้ขับขี่อยู่ในอาการตกใจที่มีรถยนต์ตามหลังกระชั้นชิดและบีบแตรให้หลบ แต่ด้วยความที่ไม่ชำนาญจึงได้ขอให้รถพยาบาลดังกล่าวแซงซ้ายไป อย่างไรก็ตามต้องมีการหาข้อเท็จจริงต่อไป

นพ.สัญชัยกล่าวต่อไปว่าในกรณีที่มีรถพยาบาลขอทางมาแนะนำให้ให้ทางรถพยาบาลโดยหากขับขี่อยู่ในทางด้านซ้ายให้หลบทางซ้าย หากอยู่ทางด้านขวาให้หลบทางด้านขวา ถึงแม้รถพยาบาลจะไม่มีผู้ป่วยแต่อาจจะเป็นขาไปรับผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก .. 2522 มาตรา 76 เรื่องสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้รถใช้ถนน เดินเท้า ต่อรถฉุกเฉินจะต้องหลบและหลีกให้พ้นผิวจราจรทันทีเมื่อได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนหรือเห็นไฟวับวาบ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท นอกจากนี้ในส่วนของคนขับรถพยาบาลเองหรือรถฉุกเฉินก็จะต้องปฏิบัติตามกฏจราจรอย่าเคร่งครัด ขับขี่ด้วยความระมัดระวัง และการขอทางก็จะต้องเปิดสัญญานไฟให้ถูกต้องด้วย

กรณีที่มีข้อสงสัยว่ารถพยาบาลดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ นพ.สัญชัยกล่าวต่อไปอีกว่าจะต้องมีการสืบหาข้อเท็จจริงและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ประชาชนสามารถช่วยตรวจสอบได้ผ่านแอพลิเคชั่น EMS certified หรือถ่ายรูปรถส่งมาที่อีเมล 1669@niems.go.th หรือโทรสอบถามได้ที่ 02-8721669 ทาง สพฉ.จะดำเนินการตรวจสอบให้ทันที

นพ.สัญชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การขอทางให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินเป็นนโยบายสำคัญที่ทาง สพฉ ได้ดำเนินการมาโดยตลอด และอยากให้คิดว่าคนที่อยู่ในรถพยาบาลคือญาติเรา อาจเกิดเหตุการณ์เหล่านี้กับเราได้ตลอดเวลาเช่นกัน และหากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน อย่าลืม โทร 1669