ชป.ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีอ่างฯลำปะเทีย มีน้ำท่วมพื้นที่เกษตรเหนืออ่างฯ

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณี เกษตรกร 5 หมู่บ้านร้องศูนย์ดำรงธรรมช่วยเหลือ เนื่องจากชลประทานเสริมระดับสปิลเวย์อ่างลำปะเทียสูงทำน้ำเอ่อท่วมนาข้าว สวนยางพารา อ้อย ปาล์ม เน่าเสียหาย 500 ไร่ วอนเร่งแก้ปัญหาระยะยาว และเยียวยาผลผลิตที่เสียหาย

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า อ่างเก็บน้ำลำปะเทีย ตั้งอยู่ที่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ภายใต้การดูแลของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2527 มีระดับเก็บกักปกติที่ +241 เมตร(รทก.) หรือที่ความจุ 25.40 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน   ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ กันเขตน้ำท่วมอยู่ที่ระดับ+242.50 เมตร(รทก.) ซึ่งตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ มีปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น(Spill Way)อยู่บ่อยครั้ง กรมชลประทาน จึงได้ปรับปรุงเสริมฝายยางขึ้นอีก 1 เมตร เมื่อปี 2560 ทำให้ระดับเก็บกักรวมฝายยางอยู่ที่ระดับ +242.00 เมตร(รทก.) สามารถแก้ปัญหาน้ำล้น Spill Way ไปได้ ต่อมาในปี 2563 มีฝนตกมากทางตอนบน จากอิทธิพลของพายุใต้ฝุ่น “โมลาเบ” ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ +241.85 เมตร(รทก.) ประกอบด้านท้ายอ่างฯในลำห้วยลำปะเทียเอง มีปริมาณน้ำมากจนล้นตลิ่ง ในขณะที่นาข้าวกำลังออกรวงรอการเก็บเกี่ยว ทางโครงการฯจึงได้ทำการยกฝายยางขึ้น 0.80 เมตร เพื่อหน่วงน้ำไม่ให้น้ำเอ่อล้นไปกระทบกับพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรด้านท้ายน้ำ ในขณะเดียวกันก็ทยอยพร่องน้ำออกจากอ่างฯลำปะเทีย เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่การเกษตรด้านเหนือน้ำด้วย จนปัจจุบันมีระดับน้ำที่ +241.64 เมตร(รทก.)

ทั้งนี้ คาดการว่าราษฎรบริเวณด้านท้ายอ่างฯลำปะเทีย จะทำการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งจะสามารถเพิ่มการระบายน้ำได้มากขึ้น และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 เข้าไปพบชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของอ่างฯลำปะเทียแก่ผู้ร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขอชี้แจงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

…………………………………………………