กปน. รับมอบ “ยานใต้น้ำไร้คนขับ” (UUV) เพื่อตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประธาน นวัตกรรมสุดล้ำจาก มจพ.

จากนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โดยท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี และวาระเร่งด่วนของการประปานครหลวง ( กปน.) ที่มุ่งเน้นให้งานลดน้ำสูญเสีย เป็นภารกิจสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการให้บริการน้ำประปา โดยเฉพาะน้ำสูญเสียที่เกิดจากการแตกรั่วของท่อประธานซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ หากคิดค้นกระบวนการตรวจสอบหารอยรั่วเพื่อการซ่อมแซมอย่างทันท่วงทีจะสามารถลดน้ำสูญเสียของน้ำประปาได้

จึงเป็นที่มาของการจ้างที่ปรึกษาโครงการวิจัย “ยานใต้น้ำไร้คนขับ”(Unmanned Underwater Vehicles – UUV) เพื่อตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประธาน ซี่งเป็นความร่วมมือวิจัยและพัฒนาระหว่าง กปน.และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในระยะดำเนินการ 1 ปี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจาร์ย ดร.รามิล เกศวรกุล เป็นหัวหน้าโครงการซึ่งมีการทดสอบการใช้งานตามเงื่อนไขในสัญญา จนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ พร้อมส่งมอบให้กับ กปน. นำไปใช้งานจริง

เมื่อเร็วๆ นี้  มจพ. ได้จัดพิธีส่งมอบ “ยานใต้น้ำไร้คนขับ” (UUV)  ภายใต้ชื่อ “ชาญสมร 1”ให้กับ กปน. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่มีการออกแบบและพัฒนาด้วยคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของเครื่องมือการสำรวจท่อประธานแบบเดิม ที่ต้องได้รรับการสนับสนุนจากนักประดาน้ำในการปฏิบัติการสำรวจรอยแตกของท่อประธานที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 60- 120 เซนติเมตร ทำให้การสำรวจรอยรั่วเป็นไปได้อย่างยากลำบาก

การทำงานของยานใต้น้ำไร้คนขับ(UUV)

หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า “งานวิจ้ยนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ  ออกแบบและสร้างยานใต้น้ำที่สามารถตรวจสอบและระบุตำแหน่งการแตกรั่วของท่อประธาน โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางหุ่นยนต์มาใช้ในการตรวจสอบ และประเมินความเสียหายภายในท่อหรือในบริเวณที่การสำรวจยากที่จะเข้าถึง โดยต้องคำนึงถึงขนาดของยานใต้น้ำไร้คนขับให้สามารถนำเข้า-ออกจากระบบท่อ และสามารถใช้งานตรวจสอบท่อประปา ขนาดทางเข้าเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป ขณะลงสำรวจและใช้งานในท่อแอร์วาล์ว ( Air Valve)ต้องดำเนินการในสภาวะการส่งจ่ายน้ำ และแรงดันที่ทาง กปน. ดำเนินการอยู่”

วิธีการควบคุมยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV)

วิธีการควบคุมยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) เพื่อตรวจสอบการแตกรั่วของท่อประธาน จะทำการควบคุมผ่านชุดควบคุมผ่านชุดควบคุมภาคพื้นดิน ส่วนการควบคุมยานใต้น้ำจะควบคุมผ่านเซ็นเซอร์ที่อยู่บริเวณรอบยานใต้น้ำ โดยเซ็นเซอร์ทุกตำแหน่งมีหน้าที่ควบคุมเสถียรภาพของยานใต้น้ำให้อยู่กลางท่อประธานในระหว่างปฏิบัติงาน มีกล้องสำหรับบันทึกภาพและไฟLED ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของยานใต้น้ำ เพื่อให้ความสว่างขณะปฏิบัติการสำรวจท่อประธาน มีสายเคเบิลอยู่บริเวณด้านท้ายของยานใต้น้ำ เพื่อควบคุมและสั่งการจากชุดควบคุมภาคพื้นดิน ที่แสดงผลของภาพที่ได้จากกล้องที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของตัวยานใต้น้ำ รวมถึงควบคุมระดับและทิศทางการเคลื่อนที่ของยานใต้น้ำได้ผ่านชุดควบคุมภาคพื้นดิน

ทั้งนี้ ได้มีการนำยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ไปทดสอบภาคสนาม เพื่อหาจุดแตกรั่วของท่อประธานในหลายพื้นที่ อาทิ ถ.เพชรเกษม หนองตะกร้า (ลาดกระบัง) พุทธมณฑลสาย 2 เป็นต้น ซึ่งพบว่าสามารถสำรวจการแตกรั่วของท่อประปา เข้าถึงจุดที่ต้องการสำรวจได้จริง

ความสำเร็จจาการร่วมมือในงานวิจัยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการหาจุดแตกรั่วในท่อประธานให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ ลดระยะเวลาในการสำรวจ และลดความเสี่ยงอันตราย และการปนเปื้อนของกำลังคนในการเข้าไปสำรวจภายในท่อ ตอบสนองนโยบายแผนน้ำประปาปลอดภัย และนับเป็นก้าวสำคัญในการลดค่าใช้จ่ายมูลค่าสูงที่เกิดจากน้ำสูญเสียซี่งเป็นวาระสำคัญขององค์กร และมีแนวทางในการพัฒนาต่อยอดให้สามารถซ่อมท่อประธาน โดยไม่ต้องปิดน้ำในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบในการส่งจ่ายน้ำไปสู่ประชาชน และช่วยยกระดับคุณภาพงานด้านสาธารณูปโภคหลักของประเทศ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างสะดวกต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

………………………………………………………………