ก.แรงงาน แจง พัฒนาทักษะฝีมือคนไทยทุกกลุ่ม ยัน เยาวชนได้ฝึกก่อนเข้าทำงาน

รมว.แรงงาน ชี้แจง กระทรวงแรงงาน มีนโยบายพัฒนาทักษะฝีมือให้แรงงานทุกกลุ่ม ยืนยัน นักเรียน นักศึกษา ต้องได้รับการพัฒนาฝีมือให้มีทักษะความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นางเฮนเรียตตา เอช. โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ ออกมาเรียกร้องให้ประเทศไทยเพิ่มการลงทุนในการพัฒนาเยาวชนอย่างเร่งด่วน ภายหลังการเยือนประเทศไทย โดยระบุว่า จากข้อมูลสถิติแรงงานปี 2560 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร้อยละ 15 ของเยาวชนช่วงอายุ 15-24 ปี หรือประมาณ 1.3 ล้านคนในประเทศไทยนั้น ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใดๆ นั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงาน ขอยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงและอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการ และแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน แรงงานทั่วไป นักเรียน นักศึกษา และที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน ได้เตรียมความพร้อมด้านทักษะฝีมือ ภาษา และเทคโนโลยีให้แก่เยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่และอยู่ระหว่างการหางานทำ โดยจัดแนะแนวอาชีพและส่งเสริมอาชีพอิสระให้บัณฑิตมีงานทำ มีรายได้ จับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ระหว่างผู้ที่กำลังหางานทำกับนายจ้างสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย ผ่านเว็บไซต์ http//:smartjob.doe.go.th และ Job box จัดนัดพบแรงงานในสถานศึกษา บูรณาการกับสถานศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะ (Up skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ในหลักสูตรระยะสั้นฝึกอบรมอย่างน้อย 10 วัน อาทิ หลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีดิจิทัล อินโฟกราฟฟิก เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น ส่วนในระยะยาวภายใน 1-2 ปี กระทรวงแรงงาน จะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการแนะแนวอาชีพให้แก่นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมทั้งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนระหว่างภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน การสร้างจิตสำนึก นักเรียน นักศึกษา และครอบครัวให้มีทัศนคติในการเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพตามความรู้ ความสามารถ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็ว สร้างนิสัยการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผลักดันกฎหมายส่งเสริมการมีงานทำ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเพิ่มทักษะด้านความรู้ความสามารถและการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

“ขอให้แรงงานทุกคน ทั้งแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบกิจการ แรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน แรงงานทั่วไป และที่สำคัญ นักเรียน นักศึกษา ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานมั่นใจได้ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ครอบคลุม ทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนากลไกการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความ
มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าว