กระทรวงยุติธรรม ร่วมพันธมิตร เปิดเวทีแลกขับเคลื่อนหลักการ ”ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ช่วงระหว่างและหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดโควิด-19

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก แห่งประเทศไทย เปิดเวทีแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนหลักการ ”ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน”ช่วงระหว่างและหลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมคำนึงถึงหลักการฟื้นฟูกลับที่ดีกว่า (Build Back Better )

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม Lotus..Suite 1-4 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทราราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายนพปฎล เดชอุดม เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และ Ms. Lovita Ramguttee Deputy Resident Repersentative, UNDP Thailand เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 (The 4th National Dialogue on Business and Human Rights) ภายใต้ประเด็น “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในโลก หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยมี นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนภาคธุรกิจ จำนวน 100 คน เข้าร่วม

สืบเนื่องจาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2565) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ส่งผลให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะหน่วยงานหลักรับผิดชอบแผนปฏิบัติการฯ มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งการประชุมฯ ในวันนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีให้ภาคธุรกิจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน ตลอดจนเพิ่มพูนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้แก่ภาคธุรกิจ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และต้นแบบที่ดีในการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งในช่วงระหว่างและภายหลังสถานการณ์ โควิด-19 รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อการจัดการธุรกิจในช่วงโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมและแก้ปัญหาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยคำนึงถึงหลักการฟื้นฟูกลับที่ดีกว่า (Build Back Better)

“การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวิกฤติการณ์ระดับโลกที่ก่อให้เกิดผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวผ่านระยะการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเหมาะสม กับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง และภายใต้มุมมองการดำเนินธุรกิจในรูปแบบวิถีปกติใหม่นั้น การดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะจะช่วยลดความขัดแย้งและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจสามารถประกอบกิจการ ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจขนาดใหญ่สามารถเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนให้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ ในภาพรวมภาคธุรกิจของประเทศไทย ในฐานะที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ ในภูมิภาค จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการยืนยันบทบาทนำของประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศต่อไป
………………………………………………………………………….