รมว.ก.คมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างไทย – เยอรมนี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration Of Intent : JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมี นายเกออร์ก ชมิดท์ (Georg Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เป็นผู้ร่วมลงนาม โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมพิธี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสโมสรและหอประชุมกระทรวงคมนาคมฃ

การลงนามความตกลงดังกล่าว ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือวิชาการระหว่างไทยและเยอรมนีในด้านระบบรางรวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมทุกระดับ เช่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้เป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต แหล่งรวมวิทยากรระบบรางที่เป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย Thai First ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคตอันใกล้ต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคม มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการลดใช้พลังงาน โดยเฉพาะระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทางขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยตระหนักดีว่าสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นแหล่งวิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางชั้นสูง จึงมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้งสองประเทศ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ดังนี้

1. การจัดตั้งสมาคมระบบรางไทย – เยอรมนี (German-Thai Railway Association : GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืน

2. การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดทำหลักสูตรปริญญาร่วมวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรามระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ RWTH Aachen University ของเยอรมนี

3. การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบราง ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเยอรมนี เห็นชอบร่วมกันต่ออายุแถลงการณ์ดังกล่าวต่อไปอีก 2 ปี เพื่อก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต

………………………………………………………………………..