รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตัดดอกกัญชาที่จุฬาเอาด้วย ปลูกเพื่อใช้ทางการแพทย์ ปลอดภัยได้มาตรฐาน ไร้สารตกค้าง มุ่งถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่ ศูนย์วิจัยยาเสพติด โครงการพัฒนาที่ดินจุฬา-สระบุรี จ.สระบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การพัฒนากัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษา รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชน การที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาสายพันธุ์ไทย พัฒนาการปลูกในรูปแบบชีวภาพ ตั้งแต่การผสมดิน ปุ๋ย เพาะเมล็ด การไล่แมลง การลดสารปนเปื้อนทั้งในดินและในต้น ให้ได้สารสำคัญจากกัญชาที่ปลอดภัยนำไปรักษาโรค และเพื่อนำองค์ความรู้ในการปลูก วิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไปถ่ายทอดไปยังประชาชน ยังช่วยผลักดันนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กัญชาที่ทางจุฬานำมาปลูกนั้นเป็นกัญชาสายพันธุ์ไทยจาก 9 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ สกลนคร มุกดาหาร นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช และตรัง ที่นักวิชาการได้ลงพื้นมาศึกษาวิจัยโดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการเก็บเมล็ดและลำต้น และสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ พบว่ามีอยู่ 6 สายพันธุ์หลัก เพื่อนำมาเพาะปลูก วิจัยและพัฒนา โดยการปลูกมีทั้งระบบเปิด ระบบปิด และระบบโรงเรือน เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสม และทราบปริมาณสารสำคัญแต่ละชนิดเพื่อนำไปวิจัยพัฒนาต่อยอด และนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
พร้อมกันนี้ นายอนุทิน ได้ร่วมตัดช่อดอกกัญชารุ่นที่ 1 และปลูกรุ่นที่ 2 ของโครงการ และเป็นพยานการลงนามความร่วมมือระหว่างจังหวัดสระบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านวิชาการกัญชาทางการแพทย์ มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ เผยแพร่ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สาธารณสุข
ทั้งนี้ จังหวัดสระบุรีเป็น 1 ใน 14 จังหวัด เมืองสมุนไพร เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูก และมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรที่ผ่านมาตรฐาน GMP ได้แก่ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา และโรงพยาบาลหนองโดน
…………………………………