นางเพ็ญศิริ วงษ์วาท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ โดยเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและภูมิปัญญาในการพัฒนาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคบนพื้นฐานการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยในส่วนของจังหวัดอุดรธานี ปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) โดยให้การสนับสนุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ภายใต้แผนบูรณาการวิจัยการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจังหวัดอุดรธานีและหนองบัวลำภู การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนยั่งยืน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การแปรรูปอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม ซึ่งนับเป็นกลุ่มวิสาหกิจตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาประยุกต์ใช้แปรรูปอ้อยอินทรีย์เพื่อสร้างมูคค่าให้กับสินค้าเกษตร และได้รับการสนับสนุนเครื่องรีดอ้อยแบบกึ่งอัตโนมัติ เครื่องกวนสำหรับแปรรูปผลิตภัณฑ์ไซรัปอ้อยชนิดให้ความร้อนด้วยแก๊สปิโตรเลียมเหลว ถังบรรจุผลิตภัณฑ์ไซรัปอ้อย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ที่ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนศูนย์ AIC
จากการสัมภาษณ์นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ บอกเล่าว่า ครอบครัวของตน ได้เริ่มปลูกอ้อยอินทรีย์ (GAP,PGS) ตั้งแต่ปี 2554 พื้นที่ปลูกจำนวน 3 ไร่ และได้เล็งเห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงโอกาสทางตลาดและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวม จึงได้ก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจฯ ขึ้น เพื่อดำเนินการแปรรูปอ้อยอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก 50 คน สำหรับการผลิตอ้อยอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ จะปลูกพันธุ์สุพรรณบุรี 50 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับหีบน้ำอ้อยสดโดยเฉพาะ ให้รสชาติหอม หวาน และพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมสำหรับปลูก ในพื้นที่ภาคอีสาน ต้นทุนการผลิต ทั้ง 2 พันธุ์เฉลี่ย 4,000 – 5,000 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 1 และสามารถเก็บเกี่ยวไปจนถึงอายุ 3 ปี) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 8 – 10 ตัน/ไร่/ปี ให้ผลผลิตรวมทั้งหมด 24 ตัน/ปี ระยะเวลาเก็บเกี่ยว พันธุ์สุพรรณบุรี 50 สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ส่วนพันธุ์ขอนแก่น 3 เก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ จะนำผลผลิตอ้อยอินทรีย์ทั้งหมด มาแปรรูปเป็นน้ำอ้อยสด น้ำอ้อยปึก น้ำอ้อยผง และน้ำอ้อยก้อน ซึ่งได้รับการรับรองจาก อย. และในส่วนของน้ำอ้อยไซรัป ขณะนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างดำเนินการขอ อย. เพิ่มเติมด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ครบ. (คริสตจักร โรงเรียน บ้าน) สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 ส่งจำหน่ายที่เซ็นทรัล พลาซา อุดรธานี ส่วนผลิตภัณฑ์ร้อยละ 40 ส่งจำหน่ายร้านค้าในอำเภอศรีธาตุ อาทิ ร้านค้าในโรงพยาบาล ตลาด และร้านจำหน่ายสินค้า OTOP ประจำอำเภอ ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มีแผนจะขยายตลาดไปต่างประเทศในแถบเอเชียก่อน รวมถึงจะมีการเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินงานในอนาคต ทางกลุ่มวิสาหกิจฯ มีแผนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเป็น 20 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และมีแผนจะผลิตถ่านอัดแท่งจากชานอ้อย รวมถึงมีโครงการที่จะปลูกอ้อยพันธุ์ Earth Safe RK03 ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากมูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 4 – 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วกว่าอ้อยพันธุ์ปกติเป็นเท่าตัว ทั้งนี้ การรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อพัฒนาผลผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน โดยการพัฒนาศักยภาพการผลิต การเกษตรแบบอินทรีย์ และการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อชุมชนยั่งยืน สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อ้อยอินทรีย์ทางกลุ่มยินดีให้เข้ามาศึกษาดูงานได้ หรือขอคำปรึกษาได้ที่นายสมบูรณ์ ภูน้ำทรัพย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีไทยบ้านนางาม 74 หมู่ที่ 11 ตำบลตาดทอง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี หรือ โทร. 094 1864 291
…………………………………………………
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี