ทางหลวงชนบท พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขาให้สามารถสัญจรได้ทุกฤดู สร้างถนนเข้าโครงการหลวง จ.เชียงราย กว่า 16 กิโลเมตร

กรมทางหลวงชนบท เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย (พื้นที่ต้นกำเนิดลุ่มแม่น้ำเจดีย์และลุ่มแม่น้ำลาว) ทางเข้าโครงการหลวงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของชาวทางหลวงชนบทที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ในการสร้างเส้นทางสนับสนุนพื้นที่โครงการหลวงและโครงการพระราชดำริ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อำนวยความสะดวกปลอดภัยในการขนผลิตผลทางเกษตรออกสู่ท้องตลาดได้ทุกฤดู ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ซึ่งอำเภอเวียงป่าเป้าเป็นเขตติดต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันมีอุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในหลายพื้นที่หลายแห่งจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวและมีประชากรตั้งหมู่บ้านอยู่ตามภูเขาสูงหลายหมู่บ้าน มีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ส่งผลให้การขนส่งพืชผลทางการเกษตรเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากถนนเดิมเป็นถนนดินสูงชันและแคบ กรมทางหลวงชนบท จึงได้สนับสนุนงบประมาณสำรวจออกแบบและก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 – บ้านทุ่งยาว (ช่วงที่ 2) อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างตามที่ได้รับอนุญาตในการขอใช้พื้นที่เพื่อทำการปรับปรุงและก่อสร้างถนนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนแจ โดยเป็นเส้นทางเชื่อมจากแยกถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่ – เชียงราย) ของกรมทางหลวง ที่ กม.76+100 ด้านซ้ายทาง เข้าไปในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติขุนแจ ซึ่งอยู่ในพื้นที่การพัฒนาของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง โดยผ่านอ่างเก็บน้ำดอยงู บ้านทุ่งยาว บ้านห้วยทราย บ้านป่าเมี่ยงม่อนวัด บ้านห้วยคุณพระ และบ้านขุนลาว แล้วจึงเข้าเชื่อมกับถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118 (เชียงใหม่ – เชียงราย) อีกครั้ง ที่ กม.54+100 โดยจะทำการก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนแจเท่านั้น รวมเป็นระยะทาง 16.875 กิโลเมตร ซึ่งจะก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 4 – 5 เมตร ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 3 แห่ง พร้อมติดตั้งงานป้ายจราจร ก่อสร้างงานเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเครื่องจักรดำเนินการกรุยทาง ถางป่า เพื่อเตรียมดำเนินงานดินถมคันทางต่อไป คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 108.700 ล้านบาท

……………………………………………………