รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมแถลงข่าว 2 ประเด็น โครงการธนาคารเวลาและการบริจาคเบี้ยยังชีพเข้ากองทุนผู้สูงอายุ

วันที่ 25 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมแถลงข่าวใน 2 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) โครงการธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย : ออมเวลา ปันสุข และ 2) การบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ : การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ณ บริเวณโถงกลาง ชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

สืบเนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และกำลังจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งจะมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 และในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 และในปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่มีลักษณะติดบ้าน คือ ผู้สูงอายุที่ดูแลตนเองได้บ้าง ช่วยเหลือตนเองได้บ้าง รวมทั้งมีผู้สูงอายุที่มีลักษณะติดเตียงคือ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ พิการ หรือทุพพลภาพ โดยในปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการประเมินคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า มีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ถึงร้อยละ 21 จากจำนวนที่ทำการประเมินทั้งหมด

จะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุที่มีลักษณะดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ในขณะที่สังคมไทยมีสภาพการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวขยายไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ผู้สูงอายุในบางครอบครัวจึงต้องอยู่อย่างตามลำพัง ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยท่ามกลางความต้องการการดูแล และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงเป็นปัญหาที่สังคมไทยต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ธนาคารเวลาจึงเป็นแนวคิดในการส่งเสริมให้คนในสังคมดูแลซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการดูแลกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงอายุ และเด็ก แนวคิดธนาคารเวลาได้มีการดำเนินการหลายประเทศทั่วโลก เช่น สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น เป็นต้น โดยผู้ที่เป็นจิตอาสาธนาคารเวลาจะได้รับการดูแลกลับคืน เมื่อมีความต้องการและจำเป็นตามจำนวนเวลาที่ให้การดูแลผู้สูงอายุที่สะสมไว้ โดยในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา กรมกิจการผู้สูงอายุได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลดำเนินโครงการธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้การสนับสนุนในการบริหารจัดการงานในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 42 พื้นที่ 28 จังหวัด โดยมีอาสาสมัครให้บริการจำนวน 497 คน ในการนี้ มีสถิติการลงทะเบียนจิตอาสาในปีที่ผ่านมาจำนวน 120 ราย เป็นชาย 17 ราย และหญิง 103 ราย กิจกรรมที่จิตอาสาสนใจอยากทำมากที่สุด คือ เป็นเพื่อนพูดคุย อ่านหนังสือ และอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ช่วงอายุของผู้ลงทะเบียนจิตอาสา อยู่ในช่วงวัยทำงาน มีอายุไม่เกิน 59 ปี มากที่สุด จำนวน 89 คน และในวัยสูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปมี จำนวน 21 คน และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนในพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครมากที่สุด จำนวน 66 ราย และรองลงมาคือภาคกลางจำนวน 40 ราย การดำเนินงานต่อไปในปีงบประมาณ 2562 จะจัดทำผังข้อมูลอาสาสมัครการติดตามผลและการถอดบทเรียนการดำเนินงานธนาคารเวลา การจัดทำชุดองค์ความรู้ และคู่มือการดำเนินงาน รวมถึงการจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการบันทึกข้อมูลธนาคารเวลา และการหาภาคีเครือข่ายในภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมดำเนินงาน เพื่อผลักดันให้ธนาคารเวลาได้มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเป็นจิตอาสา โครงการธนาคารเวลา โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ www.dop.go.th เว็บไซต์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ www.m-society.go.th เฟสบุ๊คธนาคารจิตอาสา (FB : Jitarsabank) หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ หมายเลข 0-2642-4306 หรือ สายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300

จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการมาตรการให้เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ได้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งแหล่งที่มาของเงินมาจาก 1) เงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุจากภาษีสรรพสามิต ในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้า สุรา และยาสูบ อัตราไม่เกิน 4 พันล้านบาทต่อปี 2) โครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ และ 3) เงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป ซึ่งอัตราการจ่ายเงินตามเกณฑ์รายได้ของผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีดังนี้ ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จ่ายเดือนละ 100 บาท สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี จ่ายเดือนละ 50 บาท โดยจ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถสะสมเงินในบัตรเพื่อเก็บไว้ใช้ในเดือนต่อไปได้ โดยผู้สูงอายุสามารถกดเงินสดได้ที่ตู้ ATM ทุกสาขาของธนาคารกรุงไทย เท่านั้น มีจำนวนขั้นต่ำ 100 บาท และไม่มีค่าธรรมเนียมและรูดซื้อสินค้าที่ร้านธงฟ้า ผ่านแอพพลิเคชั่นถุงเงิน

กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้เพียงพอและประสงค์ที่จะไม่ขอรับเบี้ยผู้สูงอายุ รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อนำเงินบริจาคดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกิจกรรมรณรงค์จะดำเนินการในพื้นที่ 4 ภาค ประกอบด้วย 1)ภาคกลาง ภาคตะวันออก 2)ภาคเหนือ 3)ภาคอีสาน 4)ภาคใต้ ในเดือนพฤศจิกายน จะมีการแถลงข่าวต่อไป ภายในงานจะมีการออกบูธนิทรรศการให้ความรู้ การจัดมินิคอนเสิร์ต การมอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้บริจาคเงินเบี้ยยังชีพเข้ากองทุนผู้สูงอายุ พร้อมมอบเหรียญพระคลังเชิดชูเกียรติ และการหักลดหย่อนภาษี 1 เท่า โดยกิจกรรมในแต่ละจังหวัดจะมีผู้เข้าร่วมงาน เป็นจำนวน 300 คน ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชนร่วมประชาสัมพันธ์กิจกรรมรณรงค์การบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารกองทุนผู้สูงอายุ หมายเลข 0-2354-6100

*********************************************