จากการที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences– IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลประกาศนียบัตรและประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ “นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศพระเกียรติคุณ โดยให้การรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ เป็นวันดินโลกตามข้อเสนอของประเทศไทย ส่งผลให้วันดินโลก ได้รับการบรรจุในปฏิทินขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ซึ่งประเทศสมาชิกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ ด้าน FAO โดยกลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก หรือ Global Soil Partnership : GSP ได้จัดกิจกรรมวันดินโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นวาระในการสื่อความสำคัญของทรัพยากรดินให้เป็นที่รับทราบในวงกว้าง ไม่จำกัดอยู่เพียงแต่กลุ่มของนักวิชาการหรือเกษตรกรเท่านั้น ด้วยเล็งเห็นว่าทรัพยากรดินมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษย์ใช้ดินเป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่ตั้งของบ้านเรือน ร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งน้ำ รวมถึงวัตถุดิบสำหรับสิ่งก่อสร้างและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น และดินเมื่อถูกใช้ประโยชน์โดยปราศจากการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว จะเกิดความเสื่อมโทรม ไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาสนองประโยชน์ให้แก่มนุษย์ได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงมีความจำเป็นในการร่วมกันป้องกัน และแก้ไขปัญหาดินอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
ในการจัดกิจกรรมวันดินโลกนั้น กลุ่มสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลก (GSP) จะกำหนด หัวข้อหลักการจัดงานในแต่ละปี โดยคัดเลือกประเด็นสำคัญ ที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือส่งผลต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก โดยประเทศต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ และสร้างความ ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน สำหรับวันดินโลกในปี 2563 นี้ GSP ได้กำหนดหัวข้อ “Keep soil alive, protect soil biodiversity : รักษ์ปฐพี คืนชีวีที่หลากหลายให้ผืนดิน” เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมขององค์กรและบุคคล ในรูปแบบของการร่วมมือและสร้างเครือข่ายมากขึ้น ผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในดินที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดิน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้ร่วมกับเครือข่ายดังที่กล่าวมาแล้ว ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรดิน ตามศาสตร์พระราชาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ภายในงานวันดินโลก ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น ภาคนิทรรศการ จะมีการจัดแสดง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการพระราชปณิธานการทรงงานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นิทรรศการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) นิทรรศการโมเดล ดิน หิน แห่งประเทศไทย นิทรรศการการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร สปก. ทองคำ นิทรรศการฝนหลวง ตำรา พระราชทาน ร.9 นิทรรศการทหารผลิตพันธุ์พืชดี นิทรรศการ Smart Tumbon ตอบโจทย์แก้จน และนิทรรศการไฮไลต์ของงาน นิทรรศการ Keep soil alive, protect soil biodiversity รักษ์ปฐพีคืนชีวี ที่หลากหลายให้ผืนดิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในดินที่ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในดิน ทั้งที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ และที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะทำหน้าที่ต่างกันในกระบวนการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการดำรงอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตให้ประชาชนได้เข้าชม อาทิเช่น การจัดการดินไม้ผลพืชไร่พืชหมุนเวียน ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ผสมผสานอย่างยั่งยืน หญ้าแฝกกำแพงที่มีชีวิต สวนเกษตรพอเพียงพ้นภัยโควิด ระบบนิเวศดินน้ำป่าสัตว์อาศัย อนุรักษ์ดินและน้ำสู่ความยั่งยืนและความหลากหลายทางชีวภาพ สัมผัสใกล้ชิดจุลินทรีย์มีชีวิตในดิน อนุรักษ์พันธุกรรมพืช และยังมีจุดเช็คอิน ดินโลกปี 63 ที่ทุกท่านไม่ควรพลาด ได้แก่ Landmark วันดินโลก สัญลักษณ์ลูกโลก World Soil Day ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทุ่งทานตะวัน เหลืองสะพรั่งหันตามตะวัน ประติมากรรมถ้ำดิน หินงอก ทุ่งปอเทือง ชูดอกเหลือง หยั่งรากตรึงปุ๋ย ซุ้มไม้เลื้อย ทุ่งเลี้ยงสัตว์ แนวขั้นบันได
โดยกิจกรรมที่สำคัญอีกกิจกรรมหนึ่งในวันดินโลกปี 2563 คือ การจัดเสวนาวิชาการ ซึ่งเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องบูรณาการงานวิชาการด้านดินเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) และยังมีศูนย์ฝึกเกษตร สร้างอาชีพมั่นคงและมั่งคั่งให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้ศึกษาดูงาน ทั้งด้านปรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์เทคโนโลยีกรมพัฒนาที่ดิน สูตรพิเศษ สร้างอาชีพ ด้านการแยกขยายเชื้อจุลินทรีย์จากแหล่งธรรมชาติ สร้างดินให้มีชีวิตจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ด้านระบบน้ำ ระบบปุ๋ย ต้นทุนต่ำ ผลตอบแทนยาว ด้านเครื่องมือ เครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรงทางการเกษตร เข้าสู่ Smart Agriculture
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมร่วมเล่านิทาน ชิงรางวัลระดับเยาวชน การเดิน Trail ดินโลก 63 การประกอบอาหาร ขนมพื้นบ้าน และการจำหน่ายสินค้า Otop ของดีประจำเมืองและอาหารอร่อย และภายในงานจะมีบริการรถพ่วงรับส่ง พร้อมมัคคุเทศก์ และวิทยากรเพื่อนำประชาชนทุกท่านเที่ยวชมอย่างจุใจ
จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมงาน “วันดินโลก” (World Soil Day) ปี 2563 ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 2563 ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
………………………………………………………………………………