วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. ณ ห้อง ไพร์ม ฮอลล์ ชั้น 9 โรงแรม เดอ ไพร์ม รางน้ำ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการของผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยส่วนภูมิภาค โดยมีนางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธุ์ ผู้อํานวยการกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว เป็นประธานในพิธีเปิด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องการดูแลพัฒนาเด็ก ให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามช่วงวัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และได้ฝึกปฏิบัติการใช้งานระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ และสามารถนําไปถ่ายทอดให้กับผู้ดำเนินกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนในการกำกับดูแลได้อย่างถูกต้อง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ที่ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัย เจ้าหน้าที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ้น 85 คน

นางณิชาพัชฌ์ เพ็ชรพันธุ์ ผู้อํานวยการกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าวว่า กรมกิจการเด็กและเยาวชน โดยกองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีภารกิจในการสนับสนุนภาคเอกชน จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นการดูแล พัฒนา และจัดการศึกษา แก่เด็กปฐมวัย อายุตั้งแต่แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 ให้ได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพตามช่วงวัย เพื่อยกระดับการพัฒนาเด็กปฐมวัยและใช้เป็นมาตรฐานกลาง ทั่วประเทศ ประกอบกับสถานรับเลี้ยงเด็กต้องประเมินตนเองตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยบันทึก ข้อมูลการประเมินตนเองลงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ จึงได้มีการจัดประชุมผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัย
โดยเนื้อหาการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย การเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงการวางแผนยกระดับคุณภาพสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์ การประเมินมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ การดําเนินงานสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน และมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และระบบฐานข้อมูล สารสนเทศการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามมาตรฐานชาติ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดรมล.จันทน์กฤษณา ผลวิวัฒน์ และเจ้าหน้าที่จากกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องดังกล่าว
เด็กปฐมวัย (แรกเกิดถึงก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1) จำนวนประมาณ 4,855,242 คน เด็กช่วงวัยนี้จําเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการส่งเสริมให้ได้รับ การพัฒนาเต็มตามศักยภาพ (Full Human Potential) เนื่องจากเป็นโอกาส ของพัฒนาการเรียนรู้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมอง มีพัฒนาการสูงสุดส่งผลต่อ สติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์ การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากร มนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด
…………………………………………………………….