ปภ.บูรณาการทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือภัยในช่วงฤดูหนาว ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทั่วถึง

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยในช่วงฤดูหนาว โดยสำรวจและปรับปรุงบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ควบคู่กับการวางจัดสรรเครื่องกันหนาวอย่างทั่วถึง พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะวิธีดูแลสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น รวมถึงวางมาตรการเชิงรุกป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาวอย่างเข้มข้น ทั้งอัคคีภัย ไฟป่าจากสภาพอากาศแห้ง อุบัติเหตุทางถนนในช่วงหมอกลงจัด และการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงอากาศหนาว เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทุกมิติ
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฤดูหนาวปีนี้ประเทศไทยจะมีอากาศหนาวเย็นใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยจะมีอากาศหนาวเย็นและหนาวจัดในบางช่วงต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประกอบกับช่วงฤดูหนาวมีสภาพอากาศแห้งลมพัดแรง และหมอกปกคลุม จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุบัติภัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควัน และอุบัติเหตุทางถนน เพื่อลดผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวเย็นและภัยในช่วงฤดูหนาว กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้บูรณาการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยในช่วงฤดูหนาวอย่างเข้มข้น ดังนี้
1. เตรียมพร้อมรับมือภัยหนาวเชิงรุก โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ประกอบด้วย หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศ และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยหนาว รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูหนาว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและวางมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อซักซ้อมแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย กำหนดแนวทางการจัดเตรียมเครื่องกันหนาวและชี้แจงระเบียบหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ สำรวจและปรับปรุงบัญชีผู้ประสบภัยหนาวกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ เด็กไร้ผู้อุปการะ คนพิการทุพลภาพ สตรีมีครรภ์ และผู้มีรายได้น้อย โดยระบุจำนวนผู้ประสบภัย แยกรายครัวเรือนตามอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อวางแผนแจกจ่ายเครื่องกันหนาวอย่าง
ทั่วถึง สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะวิธีดูแลสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็น เช่น ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) ไม่ผิงไฟในที่อับอากาศหรืออากาศไม่ถ่ายเท เพราะจะทำให้หมดสติและขาดอากาศหายใจ พร้อมประสานหน่วยงานสาธารณสุขเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว
2. วางมาตรการป้องกันภัยที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ครอบคลุมทั้งการป้องกันอัคคีภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ และรถดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุได้ทันที รวมถึงสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสาเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว อีกทั้งประสานขอความร่วมมือกับเกษตรกรใช้วิธีไถกลบแทนการเผาตอซังข้าว วัชพืช และวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและมลพิษทางอากาศ การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยประสานกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดตั้งป้ายเตือนและไฟส่องสว่างบริเวณจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากทัศนวิสัยไม่ดี หมอกปกคลุมเส้นทาง และถนนเปียกลื่น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
3. การเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดสรรเครื่องกันหนาวอย่างทั่วถึง ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักและความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงแบ่งมอบพื้นที่และหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานอย่างชัดเจน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวทั่วถึงและไม่ซ้ำซ้อน อีกทั้งประสานทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว อาทิ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะการแจกจ่ายเครื่องกันหนาวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยหนาวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย
…………………………………………………………………………………