รฟท. เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ลงนามก่อสร้างงานโยธาอีก 5 สัญญา คาดให้บริการได้ในปี 2568

วันนี้ (26 พ.ย. 63) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงคุณธรรมและลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ สัญญา 3-2 นายพลพัฒ กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) , สัญญา 3-3 นายสุทธิพันธ์ โกศัยพลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด , สัญญา 3-4 นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , สัญญา 3-5 นายอรรถสิทธิ์ ดำรงรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด และ สัญญา 4-7 นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) จำนวน 5 สัญญา ในวันนี้ เป็นโครงการที่รัฐบาล โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลก และเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ
มาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน


โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว ล่าสุด ก็ได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาล
แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา

ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาก่อสร้างงานโยธา 5 สัญญา ในวันนี้ ประกอบด้วย

  • สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ดำเนินการโดย บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างอุโมงค์ยาวรวม 8 กิโลเมตร และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.23 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 3-3 งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ดำเนินการโดย บริษัท ไทยเอ็นยิเนียร์และอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งมีงานก่อสร้างสถานีปากช่อง และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 26.10 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 3-4 งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ดำเนินการโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคือ มีงานก่อสร้างทางรถไฟระยะทางยาวที่สุดในโครงการ ถึง 37.45 กิโลเมตร
  • สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด (ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด บริษัท ทิมเซคาร์ตาร์ เอสดีเอ็น บีเอชดีจำกัด และบริษัท บิน่า พูรี่ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสถานีนครราชสีมา และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.38 กิโลเมตร และ
  • สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ดำเนินการโดย บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีจุดเด่นคืองานก่อสร้างสถานีสระบุรี และการก่อสร้างทางรถไฟระยะทางรวม 12.99 กิโลเมตร โดยทั้ง 5 สัญญาที่ลงนามในวันนี้ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 101.15 กิโลเมตร มีวงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ

………………………………………………………………..