กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจัด “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ” ซึ่งในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธี ในการนี้ประธานในพิธีได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการ “ความร่วมมือกรรมการสงเคราะห์กับการแก้ไข ฟื้นฟู บำบัดเด็กและเยาวชน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนในการต่อยอดสู่อาชีพในอนาคต” ซึ่งเป็นบูธที่นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรรมการสงเคราะห์ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
สำหรับการจัด “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือของกรรมการสงเคราะห์ และภาคีเครือข่ายทางสังคมในการเข้ามามีส่วนร่วมผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยยกระดับขีดความสามารถในการบริหารงานของผู้บริหารทุกระดับให้มีความเข้าใจ สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กระบวนการทำงานด้านการบริหารเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความสามารถในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามภารกิจของกรมพินิจฯ ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ การสร้างแรงจูงใจ และสร้างสรรค์ผลงานในการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมผ่านนิทรรศการ ตลอดจนเสริมสร้างแนวทางการดำเนินงานของกรรมการสงเคราะห์ที่สอดรับกับภารกิจของกรมพินิจฯ ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีและยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลง
โอกาสนี้ พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้กล่าวรายงานต่อประธานในพิธีว่า “โครงการนี้ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติราชการของกรมพินิจฯ ซึ่งได้ระบุถึงแนวทางการพัฒนาเครือข่าย อันประกอบไปด้วย การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนในการแก้ไขบำบัด การจัดการศึกษา การฝึกวิชาชีพ และการนำเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการรับและติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนภายหลังปล่อยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมด้านการศึกษาและการฝึกวิชาชีพที่ให้ตรงตามกับความต้องการของภาคธุรกิจและความถนัดหรือความสนใจของเด็กและเยาวชน ซึ่งเครือข่ายที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับกรมพินิจฯ มากที่สุดนั้น คือ กรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการ และช่วยเหลือกิจการของสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกและอบรมฯ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประสานความร่วมมือระหว่างกรมพินิจฯ และเครือข่ายกรรมการสงเคราะห์ที่เข้ามาร่วมพัฒนาเด็กและเยาวชนให้กลับเป็นคนดีเพื่อ “คืนเด็กดีสู่สังคม” อีกทั้ง เป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลเด็กและเยาวชน ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพและรู้เท่าทันโลกในอนาคตตามรูปแบบการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยส่งเสริมทักษะ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักปรับตัว พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถเลือกทางเดินที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนได้ในอนาคต ดังนั้นกรรมการสงเคราะห์จึงเปรียบเสมือนเสโซ่คล้องกลางระหว่างสังคมกับนโยบายในการบำบัดแก้ไขฟื้นฟูเด็กละเยาวชนของกรมพินิจฯ ”
จากนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานในพิธีได้กล่าวเปิดงาน ความตอนหนึ่งว่า “ผมมีความยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในวันนี้ ซึ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดแก่เด็กและเยาวชนอาจจะไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ที่เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่เข้ามาร่วมกันสรรค์สร้างให้เยาวชนได้รับการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เข้ารับการศึกษาและการฝึกวิชาชีพตามพื้นฐานความสามารถ และความถนัด จะส่งผลดีต่อการเตรียมความพร้อมก่อนกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมของเยาวชน ซึ่งจากบูธนิทรรศการจะเห็นว่าทุกท่าน ได้ทุ่มเท แรงกาย แรงใจ และแรงศรัทธาที่มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่เพื่อเด็กและเยาวชนอย่างภาคภูมิใจ กระทรวงยุติธรรม ในนามของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเล็งเห็นถึงบทบาทที่สำคัญของพวกท่าน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของกรมพินิจฯ มาโดยตลอด การจัดโครงการในวันนี้ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานความร่วมมือของกรรมการสงเคราะห์และภาคีเครือข่ายทางสังคมของกรมพินิจฯ ในการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างโอกาสแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะร่วมผลักดันพัฒนาเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ผมจะขอเพิ่มเติมข้อมูลที่สำคัญอีกประการ คือ ตัวเลขของเด็กและเยาวชนที่กลับไปทำผิดซ้ำ ปีแรก (พ.ศ. 2558) 22% ปีที่สอง 13% ปีที่สาม 9% รวมแล้ว 43 % เป็นสิ่งที่น่าตกใจว่า 43% จะวนเวียนกลับมาอีก และอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันอย่างกรมราชทัณฑ์ ตัวเลขผู้พ้นโทษกลับมาทำผิดประมาณ 33% และส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งหน่วยงานป้องกันยาเสพติดหลักตอนนี้คือ สำนักงาน ป.ป.ส. ที่ร่วมกับทหารและตำรวจ ซึ่งปีหนึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งงบประมาณก็มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ปัญหายาเสพติดหมดไป ที่ผ่านมาเราทำลายยาเสพติดไปแล้ว อย่างยาบ้า 600 ล้านเม็ดมูลค่าต้นทุนประมาณ 300 ล้านบาท ยาไอซ์ประมาณ 17,000 กว่ากิโล แต่ยาที่ผลิตที่สามเหลี่ยมทองคำมีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านเหรียญ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ตนจึงมีแนวคิดการยึดทรัพย์ตัดวงจร ถ้าเราทำแบบเดิมปัญหายาเสพติดไม่มีทางลดได้เลย ซึ่งเมื่อยาเสพติดไม่หมดปัญหาอื่นๆก็ตามมาอีก ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหาร หากเรายังปล่อยให้เขากลับมาทำผิดอีกเหมือนเดิมคือ 44% ปัญหาก็จะเหมือนเดิม แนวทางที่ผมชอบคือ ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ท่านเข้าใจแล้ว แต่การเข้าถึงนั้นเราจะทำอย่างไรให้ตัวเลขลดลงไป เด็กวันนี้อายุไม่เกิน 18 ปี ต้องอยู่บนโลกอีกหลายสิบปี ผมถามหลายคนบอกว่าเราต้องทำให้เขาเรียนหนังสือและมีงานทำ ดังนั้นผมจึงได้มอบนโยบายไปยังกรมราชทัณฑ์และกรมพินิจฯ เราต้องฝึกทักษะอาชีพ และควรจะพูดภาษาอังกฤษได้ รวมถึงการหัดทำบัญชี จะได้รู้การวางแผนค่าใช้จ่าย ถ้าเราดูแลให้ดีๆ ผลกระทบในรูปแบบอื่นๆ ที่จะตามมาจะลดลงไปด้วย วันนี้เราต้องร่วมมือช่วยกันทำงานทุกภาคส่วนในกระทรวงยุติธรรมให้ทุกอย่างสำเร็จไปด้วยกัน”
สำหรับ “โครงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคประชาสังคมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ” จัดขึ้นเป็นระยะเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้บริหารในทุกระดับของกรมพินิจฯ และกรรมการสงเคราะห์จากสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 288 คน
…………………………………………………………………………………………..