สสส.หนุนคนไทย มี “ส้วมวิถีใหม่ ห่างไกลโรค”

องค์กรส้วมโลก หรือ World Toilet Organization กำหนดให้วันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันส้วมโลก โดยปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดงานรณรงค์วันส้วมโลก ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “ส้วมสาธารณะวิถีใหม่เพื่อทุกคน” (The New Normal Public Toilet for All) เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับโควิด – 19 ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป มีความจำเป็นที่จะต้องต้องดูแล และใส่ใจเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น  ดังนั้น การพัฒนาส้วมสาธารณะจึงมีความสำคัญ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการรับสัมผัสเชื้อโรคที่ออกมาจากสารคัดหลั่งในร่างกาย ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่พื้นผิวสัมผัสร่วมต่าง ๆ หรืออากาศภายในห้องส้วม จนส่งผลต่อการติดเชื้อและเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการส้วมสาธารณะจึงต้องต้องดูแล รักษาความสะอาดของห้องน้ำ ห้องส้วม เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาด โดยเฉพาะบริเวณผิวสัมผัสร่วม ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อกน้ำ ในส่วนของผู้ใช้บริการ ก็จะต้องมีพฤติกรรมนการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

หลักปฏิบัติในการใช้ส้วมสาธารณะแบบวิถีใหม่

1.ปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค

2.เว้นระยะห่างในขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร

3.ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ และเช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม

4.ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม

5.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เพื่อสร้างสุขอนามัยดีให้กับตนเอง และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย

ห้องน้ำ หรือ ส้วม ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญ และอยู่คู่กับชีวิตประจำวันของทุกคน เปรียบเหมือนห้องแห่งความสุข เพราะมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ห้องสุขา” ห้องน้ำที่ดีจึงควรมีการออกแบบที่เหมาะสม สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีข้อจำกัด เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีมีครรภ์ ซึ่งสามารถนำหลักอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design มาใช้ในการออกแบบ เพื่อช่วยลดข้อจำกัดตรงจุดนี้ได้

อารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design คือ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ช่วยส่งเสริมให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ ผู้ที่ใช้รถเข็น ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ รวมทั้งนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มีกระเป๋าสัมภาระสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะในสังคมได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

ลักษณะแบบไหน จึงจะเป็นห้องน้ำเพื่อคนทั้งมวล Friendly Design

1.พื้นห้องน้ำควรมีระดับเสมอกับภายนอก ถ้าเป็นพื้นต่างระดับต้องมีลักษณะเป้นทางลาด

2.มีพื้นที่ว่างภายในห้องน้ำ เพื่อให้รถเข็นหมุนตัวกลับได้

3.พื้นห้องน้ำควรทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น กันน้ำ ทำความสะอาดง่าย มีระบบระบายน้ำที่ดี

4.ประตูห้องน้ำควรจัดให้อยู่ในลักษณะที่เป็นการเปิดออกทางด้านนอก ประตูที่เหมาะสมที่สุด คือ ประตูบานเลื่อน

5.ภายในห้องน้ำควรมีปุ่มสัญญาณฉุกเฉิน เพื่อขอความช่วยเหลือจากภายนอก

6.ใช้ก๊อกน้ำชนิดก้านโยก หรือระบบอัตโนมัติ

7.ติดตั้งราวจับแบบพับเก็บได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.มีภารกิจสร้างเสริมสุขภาพให้ทุกคนมีความสุข ลดอุปสรรคในการเดินทาง เราต้องการตีความอุปสรรคเป็นภาพกว้าง บริษัททำงานดีไซน์หลายกลุ่มมีข้อจำกัด เราไม่ได้มองเฉพาะทางกายภาพ แต่รวมถึงการบริการต่าง ๆ นับตั้งแต่มุมมองวิธีคิดที่จะต้องเปิดกว้าง สสส.สนับสนุนโครงการอารยสถาปัตย์ ทำงานด้านวิชาการ ส่งผ่านขยายงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นที่รับทราบมากที่สุด

สสส.- มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดทำ “คู่มืออารยสถาปัตย์”ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบ จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้พร้อมรองรับสังคมผู้สูงวัย ส่งเสริมสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ http://ssss.network/bam30