ปลัด สธ.กำชับทุกจังหวัดสำรวจข้อมูลเชิงพื้นที่ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมุสขภาพป้องกันโรค

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกจังหวัดจัดทำแผนสำรวจข้อมูลระดับพื้นที่ ช่วยขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเฉพาะการส่งเสริมให้คนไทยใส่หน้ากาก มีหมอประจำตัว 3 คน และ New Normal ด้วยวัคซีน DMHT ขอให้ดำเนินการแบบเชิงรุก ผ่านค่านิยมนำหนึ่งก้าว


วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2563) ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษ เรื่อง บทบาทของพื้นที่ในการขับเคลื่อนงาน PP&P Excellence ในการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมสร้างพลังขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ ว่า การขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสู่ความเป็นเลิศ (Promotion Prevention & Protection Excellence : PP&P Excellence) จะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องทราบปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน เช่น การส่งเสริมให้ประชาชนใส่หน้ากาก ที่ผ่านมามีการสำรวจการใส่หน้ากากในระดับประเทศ ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด ให้ลงไปสำรวจในระดับพื้นที่ด้วย เพราะในจังหวัดเดียวกันก็ยังมีปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น บางอำเภอ บางตำบลเป็นเป้าหมายของการเดินทาง มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา แต่บางอำเภอไม่ได้เป็นพื้นที่เป้าหมาย หรือบางจังหวัดอย่างภูเก็ตเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทุกอำเภอมีคนเดินทางก็ต้องเต็มที่ทั้งหมด จึงขอให้แต่ละจังหวัดพิจารณาและจัดทำแผนการสำรวจให้เหมาะสม จะทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำมากกว่าการใช้ข้อมูลระดับใหญ่มาขับเคลื่อนการทำงาน และช่วยให้กำหนดมาตรการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพได้อย่างเหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้นๆ เป็นการทำงานแบบ Work Smart


นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับประเด็นส่งเสริมสุขภาพที่ขอให้แต่ละพื้นที่ช่วยกันขับเคลื่อน คือ เรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะนโยบายคนไทยทุกคนมีหมอประจำตัว 3 คน ซึ่งตอบโจทย์ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การให้ความรู้สุขภาพ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม และการรักษาทุกที่ในหน่วยบริการปฐมภูมิ โดยขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญ รวมถึงขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพดีวิถีใหม่ หรือ New Normal ในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ผ่านวัคซีน DMHT ประกอบด้วย Distancing รักษาระยะห่าง Mask Wearing การใส่หน้ากาก Hand Washing การล้างมือ และ Rapid Testing การตรวจรักษาเร็ว ช่วยป้องกันโรคโควิด 19 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และโรคติดเชื้อทางเดินอาหารได้ และให้ทำงานเชิงรุกเข้าถึงพื้นที่ เข้าไปดูแลถึงชุมชน และทำงานด้วยค่านิยม “น น ก” หรือนำหนึ่งก้าว เนื่องจากบางงานในปัจจุบัน สาธารณสุขต้องเป็นผู้นำ ต้องคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แล้วออกแบบโครงการและระบบเพื่อเตรียมรองรับการทำงาน โดยร่วมมือกับหลายๆ ฝ่ายในพื้นที่ เหมือนกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่อาศัยร่วมมือจากทุกคนทำให้ควบคุมโรคได้