รองอธิบดีกรมชลประทาน เร่งดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.แพร่

วันที่ 19 พ.ย.63 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดแพร่ โดยมี นายชัยพงศ์ สุขยากร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 4 พร้อมด้วยผู้รับจ้างและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมบรรยายสรุปการดำเนินงานและความก้าวหน้าโครงการ ณ บริเวณหัวงานโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสวนเขื่อน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทานได้มีข้อสั่งการให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในโครงการ พิจารณาการทำทางผันน้ำให้สอดคล้องกับฤดูกาลและปริมาณงานที่เหลือ เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การก่อสร้างทุกกระบวนงานต้องคำนึงถึงความถูกต้องทางหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ

โดย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ยังได้เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ได้ทรงพระราชทานเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับราษฎรซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งอุปโภค-บริโภค รวมถึงการประกอบอาชีพในฤดูแล้งที่ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยมีพระราชดำริเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2525 เกี่ยวกับงานชลประทานว่า “ควรพิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำยม เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรหมู่ต่างๆ ในเขตอำเภอสองและอำเภอเมืองแพร่ สามารถมีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคตลอดปีด้วย ตามที่ราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอ่างเก็บน้ำต่างๆ ดังกล่าวควรพิจารณาก่อนก่อสร้างโดยเร่งด่วนตามความเหมาะสมต่อไป”

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่แคม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความจุที่ระดับเก็บกัก 8.55 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีผลความก้าวหน้าของโครงการไปแล้วกว่า 47.07% โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับประโยชน์ 7,500 ไร่ สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้แก่ราษฎรใน 15 หมู่บ้าน 3 ตำบล ของอำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำกินน้ำใช้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในเขตตัวเมือง และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่จะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของชุมชน สร้างโอกาสสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนได้อย่างสูงสุด